ฝ่ายแลงแคสเตอร์หันกลับมาโจมตี ของ สงครามดอกกุหลาบ

ซากปราสาทแซนดัลใกล้เวคฟิลด์ในเวสต์ยอร์คเชอร์พระอาทิตย์ทรงกลดยามพลบค่ำ

พระนางมาร์กาเรตเสด็จหนีขึ้นไปทางตอนเหนือของเวลส์ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในมือของฝ่ายแลงแคสเตอร์ขณะที่ขุนนางฝ่ายแลงแคสเตอร์ไปรวมกองกำลังกันทางเหนือของอังกฤษ ทางดยุกแห่งยอร์กก็ออกจากลอนดอนในปลายปีนั้นพร้อมกับเอิร์ลแห่งซอลสบรีเพื่อไปปราบปรามฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่ไปรวมกำลังกันและตั้งที่มั่นกันอยู่ที่ยอร์ก ดยุกแห่งยอร์กตั้งหลักรับอยู่ที่ปราสาทแซนดัลไม่ไกลจากเวคฟิลด์ระหว่างคริสต์มัสปี ค.ศ. 1460 เมื่อมาถึงวันที่ 30 ธันวาคมกองทหารฝ่ายยอร์คก็ออกจากเวคฟิลด์ไปโจมตีฝ่ายแลงคาสเตอร์ ฝ่ายยอร์คมีกองกำลังที่น้อยกว่ามากซึ่งเป็นผลให้ได้รับความพ่ายแพ้ในยุทธการที่เวกฟิลด์ ดยุกแห่งยอร์คเสียชีวิตในสนามรบ เอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัแลนด์ลูกชายของยอร์กอายุ 17 ปีและเอิร์ลแห่งซอลสบรีถูกจับตัวได้และถูกสังหาร พระนางมาร์กาเรตมีพระราชเสาวณีย์ให้นำหัวของทั้งสามคนไปเสียบประจานไว้หน้าประตูเมืองยอร์ก

ขณะเดียวกันพระนางมาร์กาเรตก็เสด็จขึ้นไปยังสกอตแลนด์เพื่อไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากสกอตแลนด์ แมรีแห่งเกลเดรอส์ พระมเหสีในพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ทรงตกลงมอบกองกำลังให้แต่มีข้อแม้ว่าฝ่ายอังกฤษต้องคืนเบริก-อะพอน-ทวีดให้กับสกอตแลนด์ และต้องจัดการหมั้นหมายเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกับพระธิดาของพระองค์ พระนางมาร์กาเรตทรงยอมตกลงตามข้อเสนอแม้ว่าจะไม่ทรงมีทุนทรัพย์ในการเลี้ยงกองทัพที่ได้มา แต่ทรงสัญญาทรัพย์สินที่จะได้จากการโจมตีผู้มีฐานะมั่งคั่งในดินแดนอังกฤษ ตราบใดที่ทหารสัญญาว่าจะไม่ทำการปล้นจากแม้น้ำเทร้นท์ลงไป

พระราชบัญญัติสอดคล้องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ยุทธการที่เวกฟิลด์ทิ้งให้เอ็ดเวิร์ดเอิร์ลแห่งมาร์ชบุตรคนโตอายุ 18 ปีของยอร์กกลายเป็นดยุกแห่งยอร์กคนต่อมา และเป็นทายาทในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อ เอ็ดเวิร์ดรวบรวมกองกำลังของผู้สนับสนุนในบริเวณชายแดนระหว่างอังกฤษและเวลส์ เมื่อปะทะกันในยุทธการมอร์ติเมอร์ครอสในแฮรฟอร์ดเชอร์ เอ็ดเวิร์ดก็ได้รับชัยชนะต่อกองทัพของฝ่ายแลงคาสเตอร์ที่นำโดยแจสเปอร์ ทิวดอร์ที่มาจากเวลส์ เอ็ดเวิร์ดทรงปลุกขวัญทหารด้วย “นิมิต” ของพระอาทิตย์สามดวงยามรุ่งอรุณที่ทรงเห็น (ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าพระอาทิตย์ทรงกลด (parhelion)) โดยทรงกล่าวว่าการเห็นพระอาทิตย์สามดวงเป็นสัญลักษณ์ของลูกของยอร์กสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พระองค์เองและพระอนุชาอีกสององค์จอร์จ และริชาร์ด ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ทรงใช้ “sunne in splendour” (พระอาทิตย์อันรุ่งโรจน์) เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ต่อมา

ขณะเดียวกันกองทัพของพระนางมาร์กาเรตก็นำกองทัพเดินลงมาทางใต้ โดยการหากินด้วยการเที่ยวปล้นตามเมืองหรือหมู่บ้านที่ผ่านระลงมาเรื่อย ๆ ในลอนดอนวอริคก็เริ่มใช้การโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนหันมาสนับสนุนฝ่ายยอร์ค เมืองโคเวนทรีเปลี่ยนข้างมาสนับสนุนฝ่ายยอร์ก จากนั้นวอริกก็นำทัพไปตั้งรับอยู่ที่เซนต์ออลบันทางเหนือกรุงลอนดอนเพื่อจะกันไม่ให้ฝ่ายแลงแคสเตอร์ลงมายังลอนดอนได้ แต่กองทัพของพระราชีนีมาร์กาเร็ตที่มีจำนวนมากกว่าเลี่ยงไปทางตะวันตกและอ้อมกลับมาตีหลังวอริกในยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 2 ฝ่ายแลงคาสเตอร์จึงได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่กองทหารฝ่ายยอร์กต้องหนีร่นทิ้งพระเจ้าเฮนรีให้ประทับอยู่ใต้ต้นไม้อยู่เพียงลำพังกับทหารรักษาพระองค์

ทันทีที่ยุทธการเสร็จสิ้นลงพระเจ้าเฮนรีก็พระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางให้แก่ทหารฝ่ายแลงแคสเตอร์สามสิบคน ความเคียดแค้นระหว่างสองฝ่ายเห็นได้จากการที่พระนางมาร์กาเรตมีพระราชเสาวณีย์ให้เอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์พระราชโอรสผู้มีพระชันษาเพียงเจ็ดปีเป็นผู้ตัดสินวิธีลงโทษทหารฝ่ายยอร์กที่ถูกทิ้งไว้รักษาความปลอดภัยแก่พระราชบิดา

เมื่อฝ่ายแลงแคสเตอร์เริ่มเดินทางเข้าไกล้ลอนดอนมากขึ้น ความประหวั่นพรั่นพรึงก็เกิดขึ้นทั่วไปในลอนดอน ถึงกับมีข่าวร่ำลือถึงความทารุณโหดร้ายของทหารจากทางเหนือที่จะเข้ามาปล้นและทำลายเมือง ประชาชนลอนดอนจึงปิดประตูเมือง และไม่ยอมให้อาหารและเสบียงแก่กองทหารของพระนาง ผู้ที่ทำการปล้นมาตลอดทางจนแม้เมื่อมาถึงปริมณฑลของลอนดอนในฮาร์ตเฟิร์ดเชอร์และมิดเดิลเซ็กซ์

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม