การวิเคราะห์ ของ สงครามพระเจ้าอลองพญา

ความสำเร็จของพม่าในการรุกรานไปจนถึงกรุงศรีอยุธยานั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ในการหลีกเลี่ยงการป้องกันของอยุธยาที่ตั้งไว้ตามเส้นทางรุกรานเดิม[20] แต่ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักสำหรับความสำเร็จครั้งนี้ ขณะที่พม่าตัดสินใจถูกในตอนแรกที่โจมตีชายฝั่งตะนาวศรีที่มีการป้องกันเบาบาง (ทหารเพียง 7,000 นาย) แต่เมื่อข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย กลับต้องเผชิญกับการต้านทานอันแข็งขันของอยุธยา ซึ่งถึงแม้ว่าในตอนแรกอยุธยาจะรู้สึกประหลาดใจกับเส้นทางการโจมตีของพม่า การณ์กลับกลายเป็นว่าอยุธยาสามารถปรับตัวได้ และย้ายกองทัพลงมาทางใต้ ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบตามอ่าวไทยนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย พงศาวดารพม่ารายงานว่าพม่าได้รับความสูญเสียอย่างหนักเพียงแค่ต้องฝ่าออกจากคอคอดแคบ ๆ แห่งนั้น ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าอยุธยาสูญเสียกำลังพลและเครื่องกระสุนมากกว่า

สำหรับเหตุผลที่เป็นไปได้มากกว่าสำหรับความสำเร็จของพม่านั้น อาจเป็นเพราะว่าพม่าซึ่งรบพุ่งในสงครามสืบราชบัลลังก์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2283 จึงมีความกรำศึกกว่ามาก ผู้นำการทหารของพม่า "สร้างทหารขึ้นมาด้วยตัวเอง"[33] ซึ่งทั้งหมดนั้นมีประสบการณ์ทางทหารเพียงพอเรียบร้อยแล้ว ส่วนในอีกด้านหนึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้นำทางทหารของอยุธยาหรือทหารมีประสบการณ์ทางทหารมากน้อยเพียงใด เนื่องจากอยุธยาสงบมาเป็นเวลานานแล้ว พระมหากษัตริย์อยุธยาถึงกับต้องทรงขอให้พระอนุชาลาผนวชมาบัญชาการรบ การขาดประสบการณ์ทางทหารในหมู่แม่ทัพอยุธยาระดับสูง อาจอธิบายได้ว่าทำไมอยุธยาจึงแพ้ต่อกองทัพพม่าที่มีขนาดเล็กกว่า และมีกำลังพลไม่เต็มที่ที่สุพรรณบุรีและนอกกรุงศรีอยุธยา ในทำนองเดียวกันหากขาดการนำที่ดีการใช้ทหารรับจ้างต่างชาติจะไม่ปรากฏความแตกต่างใด ๆ ในสงครามนี้เลย (พม่าได้เผาเรือที่มีลูกเรือเป็นทหารรับจ้างต่างชาติ)[18] ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าภาวะผู้นำนั้นมีความสำคัญเมื่อทหารส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นทหารเกณฑ์[34]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด