สงคราม ของ สงครามพระเจ้าอลองพญา

การปะทะครั้งแรก

ตามพงศาวดารพม่า การปะทะกันครั้งแรกในสงครามเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูมรสุมในพรมแดนทวาย ราวเดือนกันยายนหรือตุลาคม พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาทรงได้รับแจ้งว่ามีการโจมตีการขนส่งทางเรือของพม่าโดยอยุธยารอบ ๆ ทวาย และการรุกล้ำเข้าไปยังพรมแดนทวายของอยุธยายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง[29] เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัด ซึ่งอาจเป็นข้ออ้างโดยชอบธรรมในการทำสงครามของฝ่ายพม่าได้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่ากองทัพอยุธยาได้เตรียมแนวป้องกันด่านหน้าไปแล้วในตอนนั้น

ชายฝั่งตะนาวศรี

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2303 ทัพหลวงของพม่าประชุมกันอยู่ที่พรมแดนในเมาะตะมะ แทนที่จะใช้เส้นทางปกติจากเมาะตะมะไปยังด่านเจดีย์สามองค์ พม่าเลือกที่จะรุกรานลงไปทางใต้ โดยเจ้าชายมังระทรงนำทัพหน้าไป ซึ่งประกอบด้วยทหาร 6 กรม (ทหาร 5,000 นาย และม้า 500 ตัว) ไปยังทวาย[28] ทวายถูกยึดครองโดยง่ายดาย และเจ้าเมืองเคราะห์ร้าย ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองและถวายเครื่องราชบรรณาการคู่ ถูกประหารชีวิต[6] กองทัพพม่าหยุดพักเป็นเวลาสามวันเพื่อรอให้ทัพหลวงมาถึงทั้งทางบกและทางทะเล จากนั้นกองทัพพม่าเคลื่อนลงใต้มุ่งหน้าไปยังมะริด และสามารถเอาชนะทหารอยุธยาที่มีน้อยกว่ามาก คือ ทหารราบเพียง 7,000 นาย และทหารม้าเพียง 300 นาย ได้อย่างง่ายดาย หลังจากสงครามเริ่มต้นขึ้นเพียงสองอาทิตย์เท่านั้น พม่าสามารถยึดครองทั้งมะริดและเมืองทวาย และสามารถควบคุมชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดได้สำเร็จ[28]

อ่าวไทย

แม้ว่าพระเจ้าอลองพญาจะทรงทราบว่ากองทัพหลักของอยุธยาจะเคลื่อนลงมาทางใต้เพื่อเผชิญกับทัพหลวงพม่า แต่พระองค์ก็รุกต่อไปมิได้หยุดพัก กองทัพพม่าเคลื่อนไปทางตะวันออกอย่างรวดเร็ว ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี และมาถึงบริเวณที่เป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน ริ่มฝั่งอ่าวไทย[18] ปีกด้านใต้ได้รับการป้องกันโดยกองทัพอยุธยา ซึ่งประกอบด้วยทหาร 20,000 นาย ทหารม้า 1,000 นาย และช้าง 200 เชือก นอกเหนือไปจากกองทัพอยุธยาอีก 7,000 นายที่ล่าถอยมาจากตะนาวศรี[30] ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากฝ่ายอยุธยาต้านทานบริเวณชายฝั่งเพียงเล็กน้อย กองทัพพม่าที่มีกำลังพล 40,000 นาย ส่วนใหญ่จึงยังสมบูรณ์อยู่ ถึงแม้ว่ากองทัพฝ่ายรุกรานนั้นจะถูกปิดล้อมอยู่ในแนวชายฝั่งแคบ ๆ ริมอ่าว

ทัพป้องกันของอยุธยาปะทะกับกองทัพฝ่ายรุกรานนอกกุยบุรี แต่ถูกบีบให้ถอยทัพ ฝ่ายพม่ายังได้ยึดปราณบุรี แต่การรุกคืบต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาถูกถ่วงให้ช้าลงอย่างมากโดยการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่เข้มแข็งขึ้น เป็นเวลาอีกกว่าสองเดือน (กุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2303) กองทัพพม่าที่เป็นฝ่ายกรำศึกกว่าสามารถเอาชนะการป้องกันอย่างกล้าหาญของอยุธยาได้หลายจุด และสามารถยึดเพชรบุรีและราชบุรีได้อีกด้วย[6][30]

สุพรรณบุรี

โดยการยึดสุพรรณบุรี พม่าได้สู้รบขึ้นไปทางเหนือของคอคอดแคบ ๆ และสามารถมาถึงภาคกลางของอยุธยา เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 เมื่อกองทัพฝ่ายรุกรานมาถึงกรุงศรีอยุธยา กองทัพอยุธยาได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งในด้านกำลังพล ปืนและเครื่องกระสุน ได้ทำการตั้งรับอีกจุดหนึ่งที่สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับอยุธยาทางตะวันตก ฝ่ายป้องกันประกอบด้วยทหาร 33,000 นาย รวมทั้งทหารม้า 3,000 นาย และมีภารกิจเพื่อหยุดยั้งกองทัพพม่ามิให้ข้ามแม่น้ำมาซึ่งจะแบ่งแยกอยุธยาและสุพรรณบุรีออกจากกัน ฝ่ายพม่าแบ่งการโจมตีออกเป็นสามสาย นำโดยเจ้าชายมังระในตอนกลาง ขนาบโดยแม่ทัพมังฆ้องนรธาและมินฮลาทิริ ต่อที่ตั้งของอยุธยาที่ป้องกันอย่างดี ฝ่ายพม่าได้รับความสูญเสียอย่างหนักแต่ก็ได้รับชัยชนะในที่สุด โดยสามารถจับกุมเชลยศึกเป็นแม่ทัพระดับสูงของอยุธยาได้ห้าคน รวมทั้งช้างศึกของแม่ทัพเหล่านี้[6][31]

การล้อมอยุธยา

ถึงแม้ว่าจะได้รับความสูญเสียอย่างหนักที่สุพรรณบุรี กองทัพพม่ายังคงมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ทหารเหล่านี้ไม่สามารถพักผ่อนได้เนื่องจากฤดูมรสุมอยู่ห่างออกไปเพียงเดือนเศษเท่านั้น เนื่องจากอยุธยาล้อมรอบด้วยแม่น้ำหลายสาย การล้อมในฤดูฝนจึงเป็นงานที่น่าหวาดหวั่น ภูมิประเทศโดยรอบจะถูกน้ำท่วมสูงหลายฟุต ทหารพม่าที่ยังเหลือรอดกว่าครึ่งป่วยเป็นโรคบิด และพระเจ้าอลองพญาเองก็เริ่มมีพระพลานามัยไม่ค่อยดีแล้ว[11]

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าได้มาถึงชานกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2303 ฝ่ายอยุธยาได้ส่งกองทัพใหม่ที่มีกำลังพล 15,000 นาย ออกมากเผชิญหน้ากับฝ่ายผู้รุกราน แต่กองทัพดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าประกอบด้วยทหารเกณฑ์ที่ไม่มีประสบการณ์ในการรบเลย พ่ายแพ้อย่างรวดเร็วต่อกองทัพพม่าที่กรำศึก ถึงแม้ว่าจะมีกำลังพลถดถอยลงแล้วก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการล้อมระยะยาว พระมหากษัตริย์พม่าได้ส่งทูตเข้าไปเจรจาให้พระมหากษัตริย์อยุธยายอมจำนน โดยให้สัญญาว่าพระองค์จะไม่ทรงถูกปลดออกจากบัลลังก์ พระเจ้าเอกทัศทรงส่งทูตของพระองค์เองเพื่อไปเจรจา แต่พบว่าข้อเรียกร้องของพระเจ้าอลองพญานั้นไม่สามารถยอมรับได้ และการเจรจานั้นยุติลงอย่างสมบูรณ์[10] เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ระหว่างเทศกาลปีใหม่ของพม่าและอยุธยา พม่าเริ่มระดมยิงปืนใหญ่ใส่พระนครซึ่งจะกินเวลานานสามวัน[6]

ตามข้อมูลฝ่ายสยามพระเจ้าอลองพญาทรงเคืองพระทัยที่กองทัพพม่ายึดอยุธยาช้ากว่าที่กำหนดพระองค์จึงทรงนำขบวนไปสังเกตการรบที่แนวหน้าและได้สิ้นพระชนม์จากแรงระเบิดจากปืนใหญ่ซึ่งทรงขึ้นบัญชาการยิงเข้าพระนครด้วยพระองค์เอง[10] หรือจากวัณโรคต่อมน้ำเหลือง[6] แต่พงศาวดารพม่าระบุอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคบิด ไม่มีเหตุอันใดที่พงศาวดารพม่าจะปกปิดความจริง เนื่องจากจะเป็นการสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์มากกว่าที่จะสวรรคตจากบาดแผลในการรบมากกว่าสวรรคตด้วยอาการเจ็บป่วยธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้น หากพระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บต่อหน้าทหารทั้งกองทัพ ข้อเท็จจริงนี้ก็จะเป็นที่ที่ทราบไปทั้งกองทัพ และก่อให้เกิดความสับสน[10]

กองหลัง

แม่ทัพระดับสูงของพม่าเก็บความลับที่ว่าพระเจ้าอลองพญาทรงสิ้นพระชนม์เป็นความลับและสั่งให้มีการถอยทัพทั้งหมด พม่าได้ปกปิดข้อเท็จจริงตรงนี้ไว้โดยอ้างเหตุผลว่าพระมหากษัตริย์นั้นทรงพระประชวรสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอลองพญาทรงเลือกพระสหายขณะยังทรงพระเยาว์ มังฆ้องนรธา รับเกียรติบังคับบัญชาทหารกองหลัง ทหารเหล่านี้เป็น "ทหารชั้นเลิศของกองทัพ" ประกอบด้วยทหารราบ 6,000 นาย และทหารม้า 500 นาย โดยทุกนายมีปืนคาบศิลาเป็นอาวุธ มังฆ้องนรธาขยายทหารกองหลังออกเป็นแถวยาวแล้วเฝ้าคอย เป็นเวลาสองวันก่อนที่ฝ่ายอยุธยาจะรู้ว่าทัพหลวงพม่าได้ยกกลับไปแล้ว จากนั้นทัพหลวงของอยุธยาได้ยกออกมาจากกรุง ทหารของเขาเฝ้ามองขณะที่ข้าศึกเข้ามาใกล้พวกเขา และกลัวว่าจะถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของกองทัพ พวกเขาร้องขอแม่ทัพให้ถอยกลับไปเล็กน้อย แต่มังฆ้องนรธากล่าว่า "สหาย ความปลอดภัยของพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในการรักษาของพวกเรา ขอพวกเราอย่าถอย ด้วยเสียงของปืนจะไปรบกวนการบรรทมของพระองค์ท่าน" ภายใต้การนำของเขา กองทัพพม่าจึงล่าถอยได้เป็นระเบียบเรียบร้อยดี และสามารถรวบรวมผู้พลัดหลงกับกองทัพได้ตลอดทาง[10][11]

สงครามยุติ

พระเจ้าอลองพญาสวรรคตเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2303 ใกล้กับกรุงศรีอยุธยา หลังจากถูกเร่งรุดนำพระองค์มาอย่างรวดเร็วโดยทัพหน้า และจากการสวรรคตนี้เองสงครามครั้งนี้จึงสิ้นสุดลง

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด