ภูมิหลัง ของ สงครามพระเจ้าอลองพญา

ตะนาวศรีจนถึง พ.ศ. 2283

การควบคุมชายฝั่งตะนาวศรี (ปัจจุบันคือ รัฐมอญและเขตตะนาวศรีในประเทศพม่า) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถูกแบ่งเป็นสองส่วนระหว่างพม่าและอยุธยา โดยพม่าควบคุมลงไปจนถึงวาย และอยุธยาควบคุมส่วนที่เหลือ ตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ราชอาณาจักรทั้งสองต่างก็อ้างสิทธิ์เหนือชายฝั่งทั้งหมด (อยุธยาอ้างเหนือขึ้นไปถึงเมาะตะมะ ฝ่ายพม่าอ้างใต้ลงมาถึงแหลมจังซีลอน คือ จังหวัดภูเก็ต ในปัจจุบัน) และการควบคุมเหนือดินแดนดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนมือกันหลายครั้ง ราชวงศ์พุกามของพม่าสามารถควบคุมตลอดแนวชายฝั่งได้จนถึง พ.ศ. 1830

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 16 ราชอาณาจักรของคนไทย (ได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย และต่อมาคือ อาณาจักรอยุธยา) สามารถควบคุมแนวชายฝั่งส่วนใหญ่ได้จนถึงตอนใต้ของเมาะลำเลิงในปัจจุบัน ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 พม่าภายใต้พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ตองอู พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามที่จะแผ่อำนาจเข้าควบคุมชายฝั่งอีกครั้ง ครั้งแรกล้มเหลวในปี พ.ศ. 2091 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2107 เมื่อเสียกรุงครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2127 อยุธยาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และอยุธยาแผ่อำนาจกลับเข้าควบคุมชายฝั่งตอนล่างอีกครั้งในปี พ.ศ. 2136 และสามารถยึดแนวชายฝั่งทั้งหมดได้ในปี พ.ศ. 2142 พม่าสามารถยึดชายฝั่งตอนเหนือลงไปจนถึงทวายได้ในปี พ.ศ. 2158 แต่ส่วนที่เหลือยังคงเป็นของอยุธยาอยู่[1]

สถานการณ์เป็นเช่นนี้จนกระทั่ง พ.ศ. 2283 ถึงแม้ว่าฝ่ายอยุธยาพยายามแย่งชิงชายฝั่งตอนบนคืน แต่ไม่สำเร็จ ในระหว่างสมัยนี้ มะริดบนฝั่งทะเลอันดามันเป็นเมืองท่าหลักของอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งการค้ากับอินเดียและชาติตะวันตกที่สำคัญ[1]

สงครามกลางเมืองพม่า (พ.ศ. 2283-2300)

ในปี พ.ศ. 2283 ชาวมอญที่อยู่ทางตอนล่างของพม่าก่อกบฏต่อราชวงศ์ตองอูและสถาปนาราชอาณาจักรหงสาวดีฟื้นฟู โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี เจ้าเมืองเมาะตะมะและทวายแห่งพม่าหนีเข้ามาในอยุธยาที่ซึ่งทั้งสองได้รับการคุ้มครองจากราชสำนักอยุธยา ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1740 กองทัพหงสาวดีสามารถรบชนะกองทัพพม่าตอนเหนือซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ตองอู ฝ่ายอยุธยารู้สึกกังวลว่ามอญอาจผงาดขึ้นมาเป็นผู้ครองอำนาจใหม่ในพม่า เนื่องจากในประวัติศาสตร์ พม่าที่มีกำลังกล้าแข็งหมายถึงการรุกรานอยุธยาในอนาคต ในปี พ.ศ. 2288 อยุธยาได้ส่งราชทูตไปยังอังวะเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่นั่น และได้รับการต้อนรับจากพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี ทูตนั้นพบว่าราชสำนักอังวะนั้นสามารถล่มสลายได้ทุกเมื่อ[12] จนถึง พ.ศ. 2291 กองทัพหงสาวดีนั้นรุกคืบเข้าใกล้อังวะ ฝ่ายอยุธยายิ่งรู้สึกกังวลยิ่งขึ้นถึงการถือกำเนิดใหม่ของราชวงศ์อันแข็งแกร่งที่มีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี ท้ายที่สุดแล้ว ราชวงศ์ตองอูในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงต้องหันมาพึ่งอยุธยาจากการที่พม่าตอนบนถูกยึดครองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ฝ่ายอยุธยาตัดสินใจย้ายด่านหน้าไปยังตะนาวศรีตอนบนในปี พ.ศ. 2294 ซึ่งอาจเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน[13][14] (หรืออาจเป็นไปได้ว่าเป็นการฉวยโอกาสเอาดินแดนขณะที่กองทัพหงสาวดียังทำการรบพุ่งในพม่าตอนบน) ขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าอยุธยาเจตนาหรือไม่ (หรือมีศักยภาพทางทหารเพียงพอ) ที่จะส่งกองทัพล้ำเข้าไปจากชายฝั่งไปจนถึงพม่าตอนล่าง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นในหงสาวดี ผู้นำหงสาวดีซึ่งเป็นกังวลอย่างมาก ตัดสินใจถอนทหารสองในสามกลับมายังพม่าตอนล่าง ทันทีที่พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ตองอูพระองค์สุดท้าย ถูกปลดออกจากราชบัลลังก์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2295[15]

การเคลื่อนย้ายกำลังของกองทัพหงสาวดีดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์พม่า เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มต่อต้านในพม่าตอนเหนือมีโอกาสตั้งตัวติด แม่ทัพระดับสูงของหงสาวดีเหลือทหารน้อยกว่า 10,000 นาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในแถบพม่าตอนบน[15] นักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การเคลื่อนย้ายกำลังก่อนกำเนิด โดยชี้ว่าภัยคุกคามจากอยุธยาไม่ร้ายแรงเท่ากับการตอบโต้ใด ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาจากพม่าตอนเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของอำนาจการเมืองในพม่า อาศัยความได้เปรียบจากทหารหงสาวดีที่มีอยู่อย่างเบาบาง กลุ่มต่อต้านกลุ่มหนึ่ง ราชวงศ์โกนบอง ภายใต้การนำของพระเจ้าอลองพญา ได้ขับไล่ทหารหงสาวดีออกไปจากพม่าตอนบนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2297 กองทัพโกนบองรุกรานพม่าตอนล่างในปี พ.ศ. 2298 และยึดหงสาวดีได้ในปี พ.ศ. 2300 ยุติอาณาจักรมอญที่มีอายุเพียง 17 ปี[16][17]

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของอยุธยาและการสนับสนุนการต่อต้านของมอญ

สำหรับอยุธยา สถานการณ์ที่เคยเกรงกลัวกันว่าจะเกิดอำนาจใหม่อันแข็งกล้าในพม่ากลายเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นราชวงศ์โกนบองที่มีฐานอยู่ทางพม่าตอนเหนือก็ตาม ไม่ใช่หงสาวดีที่เคยเกรงกัน อยุธยาเองก็มีส่วนรับผิดชอบต่อความสำเร็จในช่วงแรกของราชวงศ์โกนบอง เนื่องจากการยึดครองตอนเหนือของตะนาวศรีของอยุธยา ช่วยทำให้กองทัพหลักของหงสาวดีถูกแบ่งลงมาทางใต้ อยุธยาได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อกลุ่มต่อต้านของมอญที่ยังคงสู้รบอยู่ทางตอนเหนือของตะนาวศรีที่ซึ่งการควบคุมของพม่ายังคงมีเพียงแต่ในนามเท่านั้น

หลังจากราชวงศ์โกนบองยึดหงสาวดีได้ในปี พ.ศ. 2300 เจ้าเมืองเมาะตะมะและทวายได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าอลองพญาเพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมเดียวกัน[18] เจ้าเมืองทวายถูกจับได้ว่าถวายเครื่องราชบรรณาการสองฝ่าย และถูกประหารชีวิตในภายหลัง ขณะที่พม่าอ้างสิทธิ์เหนือตะนาวศรีตอนบนลงไปจนถึงทวาย การปกครองพม่าตอนล่างยังคงไม่แข็งแรงนักและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชายฝั่งตะนาวศรีตอนใต้สุดนั้นส่วนใหญ่คงเป็นเพียงในนามเท่านั้น และอันที่จริงแล้ว เมื่อกองทัพโกนบองยกกลับขึ้นไปทางเหนือในปี พ.ศ. 2301 ในสงครามกับมณีปุระและรัฐฉานทางตอนเหนือ ชาวมอญในพม่าตอนล่างก็ได้ก่อกบฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[19]

การกบฏประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ โดยสามารถขับเจ้าเมืองพม่าออกจากหงสาวดีได้ แต่ได้ถูกปราบปรามโดยกองทหารรักษาการของราชวงศ์โกนบอง ผู้นำกลุ่มต่อต้านชาวมอญและผู้ติดตามได้หลบหนีมายังชายฝั่งตะนาวศรีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตะนาวศรี และยังคงปฏิบัติการต่อจากที่นั่น พรมแดนระหว่างพม่ากับอยุธยากลายมาเป็นสถานที่ปล้นสะดมของทั้งฝ่ายมอญและพม่าอยู่เป็นนิจ[19][20]

ชนวนเหตุ

พระเจ้าอลองพญาทรงกังวลกับกบฏมอญที่หลั่งไหลเข้าไปสู่ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาอย่างไม่ขาดสาย โดยทรงเชื่อว่าพวกมอญมักจะเตรียมวางแผนก่อกบฏและพยายามชิงเอาพม่าตอนล่างกลับคืนไปเป็นของตน[19] ความกังวลของพระองค์นั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าสมเหตุสมผล มอญได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งในปี พ.ศ. 2301, 2305, 2317, 2326, 2335 และ 2367-69 ซึ่งการกบฏแต่ละครั้งที่ล้มเหลวนั้นจะตามมาด้วยการหลบหนีของมอญเข้าไปยังอาณาจักรของไทย[21] พระเจ้าอลองพญาทรงเรียกร้องให้อยุธยาหยุดให้การสนับสนุนต่อกบฏมอญ ยอมส่งตัวผู้นำมอญ และยุติการส่งกำลังรุกล้ำเข้าไปทางตอนเหนือของตะนาวศรี ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นดินแดนของพม่า พระมหากษัตริย์อยุธยา พระเจ้าเอกทัศ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของพม่า และเตรียมพร้อมทำสงคราม[10]

ขณะที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นโดยทั่วไปว่าการสนับสนุนของอยุธยาต่อกบฏมอญ และการปล้นสะดมข้ามพรมแดนของมอญนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของสงคราม แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงแรงจูงใจที่ลึกลับกว่านั้น นักประวัติศาสตร์พม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษบางคนลงความเห็นว่าสาเหตุที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และได้เสนอว่าสาเหตุหลักของสงคราม คือ ความปรารถนาของพระเจ้าอลองพญาที่จะฟื้นฟูจักรวรรดิของพระเจ้าบุเรงนองขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอาณาจักรอยุธยาด้วย[22][23] เดวิด ไวอัท นักประวัติศาสตร์ไทย ยอมรับว่าพระเจ้าอลองพญาอาจทรงกลัวการสนับสนุนการฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีของอยุธยา แต่ได้เสริมว่าพระเจ้าอลองพญานั้นชัดเจนว่าออกจะเป็นชาวชนบทดิบซึ่งมีประสบการณ์ทางการทูตน้อยมาก จึงได้เพียงสานต่อสิ่งต่อพระองค์ได้ทรงแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าพระองค์ทำได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือการนำกองทัพไปสู่สงคราม[24]

แต่นักประวัติศาสตร์พม่า หม่อง ทินอ่อง กล่าวว่าวิเคราะห์ของพวกเขานั้นบรรยายไม่หมดถึงความกังวลที่แท้จริงของพระเจ้าอลองพญาที่ว่าอำนาจของพระองค์นั้นเพิ่งจะเริ่มสถาปนาขึ้น และพระราชอำนาจในพม่าตอนล่างนั้นยังไม่มั่นคง และพระเจ้าอลองพญาไม่ทรงเคยรุกรานรัฐยะไข่ เนื่องจากชาวยะไข่ไม่เคยแสดงความเป็นปรปักษ์ และเมืองตานด่วยในรัฐยะไข่ตอนใต้ได้เคยถวายเครื่องราชบรรณาการในปี พ.ศ. 2298[10] ถั่น มินอู ยังได้ชี้ให้เห็นว่านโยบายที่มีมาอย่างยาวนานของอยุธยาในการรักษารัฐกันชนกับพม่าศัตรูเก่า ได้กินเวลามาจนถึงสมัยใหม่ซึ่งครอบครัวของชาวพม่าผู้ต่อต้านรัฐบาลได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกองทัพต่อต้านรัฐบาลยังสามารถซื้ออาวุธ เครื่องกระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย[25]

นักประวัติศาสตร์ตะวันตกในสมัยหลังได้ให้มุมมองที่ค่อนข้างเป็นกลางกว่า ดี.จี.อี. ฮอลล์ เขียนว่า การปล้นสะดมเป็นนิจโดยอยุธยาและกบฏมอญนั้นเพียงอย่างเดียวก็พอที่จะเป็นชนวนเหตุของสงครามได้ ถึงแม้เขาจะเสริมว่าสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไม่สามารถที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้[20] สไตน์แบร์กและคณะสรุปว่าชนวนเหตุของสงครามเป็นผลมาจากการกบฏท้องถิ่นในทวาย ซึ่งอยุธยาถูกคาดว่าเข้าไปมีส่วนพัวพัน[9] และล่าสุด เฮเลนส์ เจมส์ เขียนว่า พระเจ้าอลองพญาทรงต้องการที่จะยึดครองการค้าระหว่างคาบสมุทรของอยุธยา ขณะที่ยอมรับว่าเหตุจูงใจรองนั้นเป็นเพื่อหยุดยั้งการโจมตีของอยุธยา และการให้การสนับสนุนพวกมอญของอยุธยา[6]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด