การขับไล่ ของ ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์

ครอบครัวชาวไอริชที่ถูกไล่ที่ ราว ค.ศ. 1879

เจ้าของที่ดินมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เช่าที่ดินทุกคนที่ต้องเสียค่าเช่าต่ำกว่า £4 ต่อปี ฉะนั้นผู้ที่มีผู้เช่าเป็นจำนวนมากจึงต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการเลี้ยงดูผู้เช่า ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการกำจัดผู้เช่าที่ดินที่ยากจนออกจากที่ดินแปลงเล็ก และจัดให้เช่าที่ดินผืนที่ใหญ่ขึ้นในราคาที่เกินกว่า £4 ต่อปีซึ่งทำให้เป็นการลดหนี้สินลงไป ในปี ค.ศ. 1846 ก็เริ่มมีการไล่ที่แต่การไล่ที่ขนานใหญ่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1847[74] เจมส์ ดอนเนลลีกล่าวว่าเป็นการยากที่จะกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าผู้เช่าที่ดินที่ถูกขับไล่มีจำนวนเท่าใดระหว่างช่วงเวลาที่เกิดทุพภิกขภัยและหลังจากนั้น การบันทึกสถิติโดยตำรวจเพิ่งมาเริ่มทำกันในปี ค.ศ. 1849 ที่บันทึกว่ามีผู้ถูกขับไล่อย่างเป็นทางการทั้งหมดเกือบ 250,000 คนระหว่างปี ค.ศ. 1849 จนถึงปี ค.ศ. 1854[75]

เจมส์ ดอนเนลลีมีความเห็นว่าจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และถ้ารวมจำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้ “อาสา” ละทิ้งที่ดิน จำนวนทั้งหมดในช่วงวิกฤติการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 จนถึงปี ค.ศ. 1854 ก็คงจะเกินกว่าครึ่งล้านคนอย่างเป็นที่แน่นอน[76] ขณะเดียวกันเฮเลน ลิตตันก็กล่าวใน “The Irish Famine: An Illustrated History” (ไทย: “ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์: ประวัติศาสตร์ประกอบภาพ”) ถึงผู้ “อาสา” ละทิ้งที่ดินว่าในบางกรณีผู้เช่าที่ดินก็ได้รับการหว่านล้อมให้ละทิ้งด้วยจำนวนเงินเล็กน้อยและถูก “หลอกให้เชื่อว่าถ้าออกไปแล้วทางโรงแรงงานก็จะรับเลี้ยง”[77]

บริเวณเวสต์แคลร์เป็นบริเวณที่เกิดการไล่ที่กันมากที่สุดเมื่อเจ้าของที่ดินขับไล่ผู้เช่าเป็นจำนวนพันและทำลายกระท่อมที่อยู่อาศัยลงจนหมด ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1848 กัปตันเคนเนดีประมาณว่ากระท่อมราว 1,000 หลังที่มีผู้อาศัยถัวเฉลี่ยบ้านละหกคนถูกทำลายราบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน[78] ในปี ค.ศ. 1847 ตระกูลแมนแห่งคฤหาสน์สโตรคสทาวน์ตระกูลเดียวไล่ผู้เช่าทั้งหมด 3,000 คน และตามคำกล่าวของจอห์น กิบนีย์ไล่ผู้เช่าขณะที่ตนเองนั่งกินซุปกุ้งมังกร[79]

บริเวณที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากถัดจากแคลร์ก็ได้แก่เคานตี้มาโย ที่จำนวนผู้ถูกไล่ทั้งหมดสูงถึง 10% ของการถูกไล่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1849 จนถึงปี ค.ศ. 1854 เอิร์ลแห่งลูคันผู้เป็นเจ้าของที่ดิน 240 ตารางกิโลเมตรเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าของที่ดินที่ทำการขับไล่ที่มากที่สุด กล่าวกันว่าเอิร์ลกล่าวว่าจะไม่เป็นผู้ที่ “ขยายพันธุ์ผู้ยากจนเพื่อให้ไปเลี้ยงนักบวช” หลังจากขับไล่ผู้เช่าที่ดินไปกว่า 2,000 คนในแขวงวัดบอลลินโรบแล้วเอิร์ลแห่งลูคันก็หันมาใช้ที่ดินที่ว่างลงในการเลี้ยงปศุสัตว์[80] ในปี ค.ศ. 1848 มาควิสแห่งสไลโกเป็นหนี้จำนวน £1,650 แต่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำการขับไล่ผู้เช่าแต่อ้างว่าทำอย่างเลือกสรร โดยกำจัดเฉพาะผู้ที่ถือว่าขี้เกียจและขี้โกง จำนวนได้รับการ “เลือกสรร” เป็นหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้เช่าที่ดินทั้งหมดของสไลโก[81]

จากคำกล่าวของเฮเลน ลิตตันการไล่ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเพราะความกลัวสมาคมลับต่างๆ แต่เมื่อสถานการณ์ทุพภิกขภัยเกิดขึ้นสมาคมเหล่านี้ก็อ่อนตัวลง แต่การแก้แค้นจากการถูกไล่ก็ยังคงมีอยู่บ้างที่เจ้าของที่ดินเจ็ดคนถูกยิง หกคนปางตายระหว่างฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1847 ลิตตันกล่าวต่อไปอีกว่าผู้อาศัยอยู่ในที่ดินที่ไม่มีผู้เช่าที่ดินอีกสิบคนถูกฆาตกรรม[82]

ลอร์ดแคลเรนดอนข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์มีความวิตกถึงสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการปฏิวัติร้องขอรัฐบาลให้มอบอำนาจพิเศษให้ แต่ลอร์ดรัสเซลล์ไม่มีความรู้สึกเห็นใจต่อคำขอ ลอร์ดแคลเรนดอนเชื่อว่าเจ้าของที่ดินมีความรับผิดชอบในการทำให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายแทบทั้งหมดโดยกล่าวว่า “ก็จริงที่ว่าเจ้าของที่ดินในอังกฤษไม่อยากจะถูกยิงเหมือนกระต่ายหรือไก่ฟ้า...แต่เจ้าของที่ดินในอังกฤษก็มิได้ขับไล่ผู้เช่าทีละห้าสิบคนแล้วเผาทีอยู่อาศัยโดยไม่ทิ้งอะไรให้เหลือสำหรับอนาคต” ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1847 รัฐสภาก็อนุมัติพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมและการกระทำอันเกินเลยเพื่อเป็นการประนีประนอมและส่งกองทหารไปสมทบยังไอร์แลนด์[83]

ภายใต้ “อนุประโยคเกรกอรี” อันเลื่องชื่อของกฎหมายประชาสงเคราะห์ ดอนเนลลีกล่าวว่าเป็น “บทแก้สำหรับคนยากจนชาวไอริชอันทารุณ”[76] ที่ตั้งตามชื่อสมาชิกรัฐสภาวิลเลียม เอช. เกรกอรี[84] และมักจะเรียกกันว่า 'อนุประโยคหนึ่งในสี่เอเคอร์' ซึ่งระบุว่าไม่มีผู้เช่าที่ดินที่มีที่ดินเกินกว่าหนึ่งในสี่เอเคอร์จะมีสิทธิที่จะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐบาลไม่ว่าจะนอกหรือในบ้าน อนุประโยคนี้ได้รับการเสนอโดยพรรคทอรีเป็นบทแก้ไขของกฎหมายประชาสงเคราะห์ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ. 1847 ที่สมาชิกรัฐสภาโดยทั่วไปมองเป็นว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งในการทำที่ดินให้ว่างลงเร็วขึ้น แม้ว่าจะมิได้มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวระหว่างการเสนอ[85] ในระยะแรกคณะกรรมาธิการกฎหมายประชาสงเคราะห์และผู้ตรวจสอบเห็นว่าอนุประโยคเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการบริหารโครงการช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่นานนักผลเสียก็เป็นที่ปรากฏ แม้แต่จากมุมมองของผู้บริหารเองและในที่สุดก็มองเห็นตนเองว่าอย่างดีก็เป็นฆาตกรในนามของมนุษยธรรมเท่านั้น ตามความเห็นของดอนเนลลี 'อนุประโยคหนึ่งในสี่เอเคอร์' เป็น “เครื่องมือทางอ้อมที่ใช้ในการฆ่า[ประชาชนผู้อดอยาก]”[86]

ใกล้เคียง

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ทุพภิกขภัย ทุพภิกขภัยในจะงอยแอฟริกา พ.ศ. 2554 ทุพภิกขภัยในประเทศเอธิโอเปีย พ.ศ. 2526–2528 ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1315–1317 ทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือ ทุพภิกขภัยในประเทศรัสเซีย ค.ศ. 1921–1922 ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ http://www.doonbleisce.com/famine_in_doon.htm http://www.emigrantletters.com/IE/output.asp?Artic... http://www.fountainmagazine.com/articles.php?SIN=7... http://books.google.com/books?id=Q3crAAAACAAJ&dq=%... http://books.google.com/books?id=sk3o1irXY5oC&pg=P... http://books.google.com/books?q=%22irish+holocaust... http://www.historyplace.com/worldhistory/famine/co... http://www.internetspor.com/v3/futbol/haber.php?ha... http://www.mccorkellline.com/ http://www.physorg.com/news171720802.html