การเมือง ของ ประวัติศาสตร์ไทยหลัง_พ.ศ._2544

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร

พรรคไทยรักไทยของทักษิณเถลิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ซึ่งเกือบครองเสียงข้างมากสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทักษิณเปิดตัวแนวนโยบายซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ทักษิโณมิกส์" ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ และจัดหาทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ประชากรชนบท โดยการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาหาเสียง รวมทั้งนโยบายประชานิยมอย่างโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รัฐบาลของเขาได้รับความเห็นชอบอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลของวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียในปี 2540 ทักษิณกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีและพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548[1]:262–5

อย่างไรก็ดี การปกครองของทักษิณเต็มไปด้วยข้อโต้เถียง เขาใช้แนวทางเข้าสู่การปกครอง "แบบซีอีโอ" ซึ่งมีแนวอำนาจนิยม การรวมศูนย์อำนาจและการเพิ่มการแทรกแซงการดำเนินการของข้าราชการประจำ แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น ทักษิณใช้อิทธิพลของตนทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งออกแบบมาเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลหมดอำนาจ เขาคุกคามนักวิจารณ์และชักใยสื่อให้ออกความเห็นเชิงบวกอย่างเดียว สิทธิมนุษยชนโดยรวมเสื่อมถอยลง โดย "สงครามยาเสพติด" ทำให้มีวิสามัญฆาตกรรมกว่า 2,000 ครั้ง ทักษิณรับมือกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยวิธีการเผชิญหน้าสูงทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น[1]:263–8

การต่อต้านสาธารณะต่อรัฐบาลทักษิณได้รับความนิยมในเดือนมกราคม 2549 โดยมีการขายหุ้นของตระกูลทักษิณในชินคอร์ปอเรชั่นให้แก่เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยเจ้าของสื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มจัดการเดินขบวนเป็นประจำ กล่าวหาทักษิณว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง เมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤตการเมือง ทักษิณยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่โดยมีกำหนดในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเนื่องจากการจัดคูหาเลือกตั้งไม่ถูกต้อง มีกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม และทักษิณยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการเมื่อประเทศไทยจัดการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549[1]:269–70

รัฐประหาร 2549

ผู้สนับสนุนรวมตัวกันทักทายทหารเมื่อรถถังวิ่งเข้ามาในกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กองทัพบกไทยภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินก่อรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ และโค่นรัฐบาลรักษาการ ผู้ประท้วงต่อต้านทักษิณยินดีต้อนรับรัฐประหาร และ พธม. สลายตัว ผู้นำรัฐประหารตั้งคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ต่อมาเปลี่ยนแปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)) คปค. ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยมีอดีตผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาและสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 หลังการลงประชามติ[1]:270–2

ผู้นำรัฐประหารในปี 2549 มีผู้นำเป็นกลุ่มนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น ฝ่ายทหารได้ฉวยประโยชน์จากโอกาสนี้โดยมีการแต่งตั้งนายทหารให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งสำคัญ ๆ งบประมาณของกองทัพเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ภายในสองปี[1]:270 เป้าหมายหลักของรัฐบาลทหารคือการกำจัดทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ข้าราชการและกองทัพ[1]:270 กองทัพยังตั้งใจใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทวงบทบาทควบคุมดูแลการเมืองของประเทศ โดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[1]:271 นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กองทัพและพวกนิยมเจ้ายกให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางความมั่นคงของชาติ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง[2]:374–5 บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้[2]:378

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับ มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งของ คมช. วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคร่วมรัฐบาลสองพรรคโดยให้เหตุผลว่าโกงการเลือกตั้ง และผู้บริหารพรรคถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลาห้าปี อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยเข้าลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชน โดยมีนักการเมืองมากประสบการณ์ สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค พรรคพลังประชาชนได้รับคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนทักษิณ และชนะการเลือกตั้งโดยเกือบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี[1]:270–2

วิกฤตการเมืองปี 2551

พธม. ยึดทำเนียบรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2551

รัฐบาลสมัครพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างแข็งขัน ผลทำให้ พธม. กลับมาชุมนุมอีกในเดือนพฤษภาคม 2551 เพื่อเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล พธม. กล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามนิรโทษกรรมให้ทักษิณซึ่งเผชิญกับข้อกล่าวหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง กลุ่มยังยกประเด็นรัฐบาลสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกของกัมพูชา ทำให้เกิดการลุกลามของกรณีพิพาทชายแดนกับกัมพูชา ซึ่งทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย ในเดือนสิงหาคม พธม. ยกระดับการประท้วงและเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ทำให้ประเทศกลับเข้าสู่วิกฤตการเมืองอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมัครมีความผิดฐานการขัดกันของผลประโยชน์เนื่องจากรับงานในรายการโทรทัศน์ทำอาหาร ทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรเลือกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สมชายเป็นน้องเขยของทักษิณและ พธม. ปฏิเสธเขาและประท้วงต่อไป[1]:272–3 ในการสลายการชุมนุมของ พธม. หน้าอาคารรัฐสภาในเดือนตุลาคม 2551 จนทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิต 1 คนนั้น ปรากฏว่าสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปร่วมงานศพด้วย

พธม. ยกระดับการประท้วงอีกในเดือนพฤศจิกายน โดยบังคับปิดท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศสองแห่ง ไม่นานจากนั้น วันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีกสองพรรคฐานโกงการเลือกตั้ง ทำให้สมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[3] จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี[4] โดยเชื่อว่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการรวบรวมเสียงให้แก่อภิสิทธิ์[5]:87

รัฐบาลอภิสิทธิ์และการประท้วงปี 2552–53

อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีพรรคร่วมรัฐบาลหกพรรค เขาได้รับการสนับสนุนจากเนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งแตกออกจากพรรคร่วมรัฐบาลพลังประชาชนก่อนหน้านี้ ขณะนั้น เศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบของวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อมา อภิสิทธิ์ออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง ขณะเดียวกันยังขยายนโยบายประชานิยมบางอย่างที่ทักษิณริเริ่ม[6]

กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ในเดือนเมษายน 2552 นปช. จัดการประท้วงในพัทยา ซึ่งรบกวนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่สี่ และประท้วงในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดการปะทะกับกำลังฝ่ายรัฐบาล[1]:274–5

นปช. ระงับกิจกรรมทางการเมืองส่วนใหญ่ตลอดช่วงที่เหลือของปี แต่กลับมาชุมนุมใหม่ในเดือนมีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ต่อมาผู้ประท้วงยึดครองพื้นที่ย่านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร การโจมตีอย่างรุนแรง ทั้งต่อผู้ประท้วงและทหาร บานปลายเมื่อสถานการณ์เนิ่นนานไป ส่วนการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและผู้ประท้วงล้มเหลวหลายครั้ง ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ทหารเข้าปราบปรามการประท้วงนำไปสู่การเผชิญหน้ารุนแรงและมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน เกิดการโจมตีวางเพลิงรอบพื้นที่ประท้วง ตลอดจนอาคารของสถานที่ราชการหลายหลังในต่างจังหวัด แต่ไม่นานรัฐบาลก็เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ผู้ประท้วงสลายตัวเมื่อแกนนำ นปช. ยอมจำนน[1]:275–7

ภาพกรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดอัคคีภัยระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม 2553

รัฐบาลยิ่งลักษณ์และวิกฤตปี 2556–57

การเดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการประท้วงช่วงแรกในเดือนพฤศจิกายน 2556

อภิสิทธิ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรในปีต่อมา และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นพันธมิตรของทักษิณ ชนะการเลือกตั้ง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ทีแรกรัฐบาลต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรับมือกับมหาอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 แต่สถานการณ์ทางการเมืองยังค่อนข้างสงบตลอดทั้งปี 2555 และต้นปี 2556

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังดำเนินแนวนโยบายประชานิยมต่อ รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นข้อถกเถียง ซึ่งต่อมาพบว่าทำให้รัฐบาลขาดทุนหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2556 ทำให้เกิดการต่อต้านจากสาธารณะ ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตนเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เดินขบวนต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งพวกเขาถือว่าร่างขึ้นเพื่อนิรโทษกรรมทักษิณ แต่แม้วุฒิสภาตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ประท้วงหันไปรับวาระต่อต้านรัฐบาลแทน ผู้ประท้วงเข้ายึดอาคารราชการหลายแห่งเช่นเดียวกับย่านการค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาเพื่อควบคุมดูแลการปฏิรูปการเมือง และขจัดอิทธิพลทางการเมืองของทักษิณ[7] ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้สนับสนุน กปปส. รายใหญ่ได้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เสียอิทธิพลในสมัยรัฐบาลทักษิณ[8]:300

ยิ่งลักษณ์รับมือการประท้วงโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ผู้ประท้วงเข้าขัดขวางการเลือกตั้งและมีการทำร้ายร่างกายผู้พยายามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง[2]:375 ทำให้ต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งในบางหน่วยเลือกตั้ง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียวได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ[9] ทำให้ประเทศขาดรัฐบาลที่มีอำนาจ ท่ามกลางการก่อเหตุโจมตีที่รุนแรงโดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย

ขณะที่การเมืองอยู่ในภาวะชะงักงัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมว่าการย้ายข้าราชการผู้หนึ่งในปี 2554 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีอื่นที่มีส่วนพ้นจากตำแหน่ง[10]

รัฐประหารปี 2557

ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่ดำลังดำเนินอยู่ กองทัพบกภายใต้บังคับบัญชาของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยอ้างความจำเป็นต้องปราบปรามความรุนแรงและรักษาความสงบเรียบร้อย มีการจัดการประชุมกับผู้นำฝ่ายต่าง ๆ แต่ล้มเหลว ประยุทธ์เข้ายึดอำนาจในรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคณะผู้ยึดอำนาจปกครองและมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง[11]

คสช. ควบคุมดูแลการปราบปรามอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งต่างจากรัฐประหารในปี 2549 มีการเรียกตัวนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว รวมถึงนักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ บ้างถูกควบคุมตัวเพื่อ "ปรับทัศนคติ" สุดท้ายมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ตามด้วยการสถาปนาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. จากนั้น สนช. ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 สิงหาคม แม้สัญญาโรดแมปสำหรับการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ คสช. ยังใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมอยู่พอสมควร มีการห้ามกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะการวิจารณ์กองทัพ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์หนักยิ่งกว่าครั้งใด[12] หลังจากร่างหลายฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เนื้อหารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติหลายอย่างที่อนุญาตให้กองทัพมีอิทธิพลในการเมืองไทย หลังการเลื่อนหลายครั้ง สุดท้ายมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมาก วันที่ 5 มิถุนายน 2562 รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[13]

2544
2546
2548
2550
2552
2554
2556
2558
2560
2562

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2544–ปัจจุบัน
แถวแรก: = รัฐประหาร (คลิกเพื่อดูบทความ), การเลือกตั้งทั่วไป (คลิกเพื่อดูบทความ); แถวสอง: รายชื่อนายกรัฐมนตรี; แถวสาม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่)

  นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์ไทยหลัง_พ.ศ._2544 http://www.nationmultimedia.com/national/Fatalitie... http://www.worldbank.org/en/news/feature/2011/12/1... http://news.bbc.co.uk/2/hi/7759960.stm https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1689... https://www.bbc.com/news/world-asia-38168912 https://edition.cnn.com/2014/03/21/world/asia/thai... https://edition.cnn.com/2017/10/26/asia/thailand-k... https://www.nytimes.com/2014/05/23/world/asia/thai... https://www.nytimes.com/2015/09/16/world/asia/thai... https://www.reuters.com/article/us-thailand-corrup...