สาเหตุ ของ สงครามกลางเมืองอังกฤษ

ปรัชญาการปกครองของพระเจ้าชาลส์

“พระเจ้าชาลส์ที่ 1” โดยแอนโทนี แวน ไดค์

สงครามกลางเมืองอังกฤษเริ่มขึ้นเพียงสี่สิบปีหลังจากการสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ในปี ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1625 อังกฤษและสกอตแลนด์อยู่ในความสงบทั้งทางการภายในและความสัมพันธ์ระหว่างของทั้งสองราชอาณาจักร พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะรวมราชอาณาจักรอังกฤษ, ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์เข้าเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์) แต่ฝ่ายรัฐสภามีความเคลือบแคลงใจถึงพระราชประสงค์ที่ว่านี้ เพราะการก่อตั้งราชอาณาจักรใหม่อาจจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของอังกฤษที่เคยปฏิบัติกันมา และเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องมือในการค้ำจุนรากฐานการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์มาจนถึงเวลานั้น นอกจากนั้นเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงครองราชย์ภายใต้ปรัชญาเดียวกันกับพระราชบิดาที่ครั้งหนึ่งตรัสบรรยายตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่าเป็นการเป็น “เทพน้อยๆ บนโลกมนุษย์” (little Gods on Earth) พระเจ้าชาลส์ทรงมีความเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากพระเจ้าให้ปกครองอาณาจักรภายใต้กฎ “เทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์” (Divine Right of Kings) ปรัชญาของพระองค์ก็ยิ่งทำให้รัฐสภาเพิ่มความหวั่นระแวงต่อนโยบายของพระองค์มากยิ่งขึ้น

ในการปกครองพระเจ้าชาลส์ทรงเรียกร้องความจงรักภักดีจากผู้อยู่ใต้การปกครองโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นการแลกเปลี่ยนกับ “การปกครองอย่างยุติธรรม” พระองค์ทรงเห็นว่าการขัดแย้งกับพระองค์เป็นการกระทำที่หยามพระองค์ ความขัดแย้งหรือความเคลือบแคลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาแห่งอังกฤษเป็นผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ในที่สุดก็แตกหักลงและนำไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด

รัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ

ก่อนที่จะเกิดการต่อสู้กันรัฐสภาแห่งอังกฤษมิได้มีบทบาทในระบบการปกครองของอังกฤษเท่าใดนัก รัฐสภาเป็นแต่เพียงคณะผู้ถวายคำแนะนำต่อและเป็นเครื่องมือของพระมหากษัตริย์เท่านั้น—พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ที่จะเรียกประชุมหรือยุบรัฐสภาเมื่อใดก็ได้ตามแต่พระราชประสงค์ การที่เรียกประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นการเรียกเข้ามาเพื่อให้ช่วยหาเงินทุนเข้าพระคลัง เพราะรัฐสภาโดยสมาชิกผู้เป็นผู้นำท้องถิ่น (gentry) มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษี พระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องพึ่งบุคคลเหล่านี้ในการทำให้การเก็บภาษีเป็นการราบรื่นโดยไม่มีปัญหาใดใด ถ้าผู้นำท้องถิ่นปฏิเสธที่จะเก็บภาษีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีเครื่องมืออื่นใดในการบังคับการเก็บภาษี แม้ว่ารัฐสภาจะอนุญาตให้ผู้แทนของผู้นำท้องถิ่นประชุมและส่งนโยบายเสนอไปยังพระมหากษัตริย์ในรูปของร่างพระราชบัญญัติ แต่ผู้แทนเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการบังคับให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไป—รัฐสภาอาจจะมีอำนาจในการบังคับพระมหากษัตริย์อยู่บ้างโดยการไม่ยอมร่วมมือในการเก็บภาษีหาเงินให้พระมหากษัตริย์ตามที่ทรงต้องการ แต่ถ้าทำเช่นนั้นพระองค์ก็อาจจะตัดสินใจยุบสภา

รัฐสภากับคำร้องสิทธิ

พระราชินีเฮนเรียตตา มาเรีย โดยปีเตอร์ เลลีย์ (Peter Lely), ค.ศ. 1660

เหตุการณ์แรกที่ทำให้รัฐสภาเป็นเริ่มเป็นกังวลคือการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าชาลส์ที่ 1 กับเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียแห่งบูร์บองผู้เป็นเจ้าหญิงโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศส การเสกสมรสเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1625 ไม่นานหลังจากที่พระเจ้าชาลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ การเสกสมรสของพระองค์ทำให้อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องพระราชโอรสที่จะเป็นรัชทายาทที่อาจจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างโรมันคาทอลิก ซึ่งทำให้เป็นที่หวั่นกลัวของชาวอังกฤษผู้เป็นโปรเตสแตนต์

นอกจากนั้นพระเจ้าชาลส์ยังมีพระราชประสงค์ที่จะเข้าเกี่ยวข้องในความขัดแย้งในยุโรปที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้ความยุ่งเหยิงของสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618-ค.ศ. 1648) การเข้าร่วมการสงครามหมายถึงการใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล วิธีที่พระเจ้าชาลส์จะทรงสามารถหาทุนในการทำสงครามได้ก็โดยการขึ้นภาษีที่ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา แต่แทนที่รัฐสภากลับจำกัดสิทธิในการเก็บภาษีตันภาษีปอนด์ที่แต่เดิมเป็นสิทธิส่วนพระองค์ที่ทรงเรียกเก็บได้ตลอดพระชนม์ชีพ รัฐสภาจำกัดให้ทรงเก็บได้เพียงปีเดียว ถ้าจะเก็บในปีต่อไปพระองค์ก็ต้องมาต่อรองขออนุมัติจากรัฐสภาเป็นปีๆ ไป ซึ่งเป็นผลทำให้พระองค์ทรงมีปัญหาทางการเงินหนักยิ่งขึ้น

แต่ปัญหาการขาดทุนทรัพย์ก็มิได้ทำให้พระเจ้าชาลส์หยุดยั้งการเข้าเกี่ยวข้องในการสงคราม ทรงตัดสินพระทัยส่งกองกำลังไปช่วยอูเกอโนท์ (Huguenots) ที่ถูกล้อมอยู่ที่ลาโรแชลล์ (La Rochelle) โดยมีจอร์จ วิลเลียรส์ ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 1ข้าราชสำนักคนโปรดไปเป็นแม่ทัพ แต่ก็เป็นการรณรงค์ที่ล้มเหลว รัฐสภาที่เป็นปรปักษ์ต่อดยุคแห่งบัคคิงแฮมอยู่แล้วเรียกร้องให้ปลดดยุคแห่งบัคคิงแฮมออกจากตำแหน่ง พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงยอมและทรงโต้ตอบด้วยการยุบรัฐสภา การกระทำครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการช่วยดยุคแห่งบัคคิงแฮมแต่ก็เป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐสภามากยิ่งขึ้น

หลังจากที่ทรงยุบรัฐสภาแล้ว และไม่ทรงสามารถหาเงินโดยไม่มีรัฐสภาช่วยแล้วพระเจ้าชาลส์ก็ทรงตั้งรัฐสภาใหม่ในปี ค.ศ. 1628 ที่รวมทั้งโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่รัฐสภาใหม่ยื่นฎีกาสิทธิ (Petition of Right) ซึ่งในที่สุดพระองค์ก็ทรงยอมรับเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้ทุนทรัพย์จากการที่รัฐสภาช่วยเก็บภาษีให้พระองค์

สมัยการปกครองส่วนพระองค์ของพระเจ้าชาลส์

อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอด

หลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงเลี่ยงการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นเวลากว่าสิบปีซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่า “สิบเอ็ดปีแห่งความกดขี่” (Eleven Years' Tyranny) ในช่วงเวลานี้พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงสามารถหาเงินได้ง่ายๆ โดยปราศจากรัฐสภา แต่ก็ทรงหันไปหาวิธีอื่นในการหาเงินเข้าท้องพระคลัง เช่นการนำกฎหมายโบราณออกมารื้อฟื้นใช้ในการเรียกค่าปรับจากขุนนางผู้มิได้เข้าร่วมในพิธีราชาภิเษกของพระองค์ก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นก็ยังทรงพยายามโดยการเก็บภาษีเรือที่เรียกร้องเก็บภาษีจากแคว้นต่างๆ ที่ไม่อยู่ติดทะเลสำหรับราชนาวีอังกฤษ บางคนก็ต่อต้านไม่ยอมจ่ายภาษีที่ว่าเพราะถือว่าเป็นภาษีที่ผิดกฎหมายแต่ก็ไปแพ้ในศาลซึ่งก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเพิ่มความไม่พอใจในวิธีการปกครองของพระองค์มากยิ่งขึ้น

ระหว่างการเก็บภาษีแล้ว ใน “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” พระเจ้าชาลส์ก็ยังทรงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา โดยการที่มีพระประสงค์ที่จะแยกนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ให้ใกลจากลัทธิคาลวินิสม์มากขึ้น ไปทางที่ใช้ระบอบประเพณีทางศาสนาเช่นที่ใกล้เคียงกับธรรมเนียมโบราณมากขึ้นกว่าที่ปฏิบัติกันในลัทธิคาลวินิสม์[2] พระประสงค์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยอัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดที่ปรึกษาทางการเมืองส่วนพระองค์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยพระเจ้าชาลส์เองให้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเตอร์บรี ในปี ค.ศ.1633[3][4] และทรงริเริ่มการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เป็นการพยายามเพิ่มอำนาจให้แก่นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์มากขึ้น อัครบาทหลวงลอดพยายามทำให้สถาบันศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยการปลดนักบวชที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายและปิดองค์การต่างๆ ของกลุ่มเพียวริตัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการต่อต้านนโยบายการปฏิรูปศาสนาของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระราชนโยบายของพระองค์เป็นนโยบายที่ค้านกับปรัชญาของลัทธิคาลวินิสม์ที่ต้องการให้นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ทำพิธีศาสนาเช่นที่ระบุไว้ใน “หนังสือสวดมนต์สามัญ” (Book of Common Prayer) นอกไปจากนั้นอัครบาทหลวงลอดก็ยังนิยมคริสต์ศาสนปรัชญาของลัทธิอาร์มิเนียนนิสม์ (Arminianism) ของจาโคบัส อาร์มิเนียส (Jacobus Arminius) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ผู้เคร่งครัดในลัทธิคาลวินิสม์ถือว่าแทบจะเป็นปรัชญาของ “โรมันคาทอลิก”

เพื่อจะเป็นควบคุมผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดตั้งระบบศาลที่เป็นที่น่ายำเกรงขึ้นสองศาล “Court of High Commission” และ “Court of Star Chamber” เพื่อใช้ในการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมรับการปฏิรูป ศาลแรกมีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การที่ทำความเสียหายต่อตนเองได้ ศาลหลังมีอำนาจออกบทลงโทษใดๆ ก็ได้รวมทั้งการทรมานยกเว้นแต่เพียงการประหารชีวิตเท่านั้น

อำนาจเหนือกฎหมายของ “Court of Star Chamber” ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์เป็นอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจใดๆ ที่เคยใช้กันมาก่อนในรัชสมัยของพระองค์ ภายในรัชสมัยของพระองค์ผู้ถูกกล่าวหามักจะถูกลากตัวขึ้นศาลโดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ และไม่มีสิทธิในการคัดค้านข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้นด้วย นอกจากนั้นคำสารภาพที่ได้มาก็มักจะได้มาจากการทรมาน

การก่อความไม่สงบในสกอตแลนด์

ดูบทความหลักที่: สงครามบาทหลวง

สมัยการปกครองส่วนพระองค์” มายุติลงเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงพยายามนำนโยบายทางศาสนาที่บังคับใช้ในอังกฤษไปใช้ในสกอตแลนด์ แม้ว่านิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์จะมีนโยบายเป็นของตนเอง แต่พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะให้การปฏิบัติทางศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งเกาะอังกฤษที่รวมทั้งสกอตแลนด์ โดยการเสนอการใช้หนังสือสวดมนต์สามัญในสกอตแลนด์ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1637 แต่ทางสกอตแลนด์ประท้วงอย่างรุนแรงจนเกิดการจลาจลในเอดินบะระห์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1638 ทางสกอตแลนด์ก็ยื่นการประท้วงอย่างเป็นทางการในพันธสัญญาแห่งชาติ (National Covenant) ซึ่งเป็นเอกสารที่ประท้วงข้อเสนอต่างๆ ของพระเจ้าชาลส์ที่ยังมิได้รับการทดสอบโดยรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์และสภาทั่วไปของศาสนาของสกอตแลนด์ก่อนที่จะนำมาปฏิบัติ

ไม่นานหลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยกถอนการบังคับใช้หนังสือสวดมนต์สามัญในสกอตแลนด์และทรงเรียกประชุมสภาทั่วไปของนิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1638 สภาทั่วไปที่มีอิทธิพลจากมติมหาชนไม่ยอมรับหนังสือสวดมนต์และประกาศว่าเป็นการผิดกฎหมายและไล่บาทหลวงออกจากการร่วมประชุม พระเจ้าชาลส์ทรงเรียกร้องให้สภาทั่วไปถอนการกระทำแต่สภาทั่วไปไม่ยอม ทั้งสองฝ่ายต่างจึงเริ่มรวบรวมกองทหารสำหรับการสงครามที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้น

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1639 พระเจ้าชาลส์ทรงนำกองทัพขึ้นไปยังเขตแดนสกอตแลน์เพื่อจะไปปราบความไม่สงบที่เรียกว่าสงครามบาทหลวง แต่ก็เป็นการสู้รบที่ไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ชนะอย่างเป็นที่แน่นอน ในที่สุดพระองค์ก็ยอมรับข้อเสนอยุติการศึกจากฝ่ายสกอตแลนด์—สัญญาสงบศึกเบริค (Pacification of Berwick) แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเมื่อสงครามบาทหลวงครั้งที่สองเริ่มขึ้นในฤดูร้อนของปีต่อมาในปี ค.ศ. 1640 ครั้งนี้ฝ่ายสกอตแลนด์ได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าชาลส์และยึดนิวคาสเซิลอัพพอนไทน์ ในที่สุดพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยอมตกลงที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการศาสนาในสกอตแลนด์ นอกจากนั้นก็ยังทรงต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายสกอตแลนด์ด้วย

เรียกประชุมรัฐสภา

ทอมัส เวนท์เวิร์ธ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดที่ 1

ก่อนหน้าที่จะเข้าสงครามกับสกอตแลนด์พระเจ้าชาลส์ทรงมีความรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องปราบปรามความไม่สงบในสกอตแลนด์แต่ไม่ทรงมีงบประมาณพอ พระองค์จึงทรงพยายามหาทุนโดยการเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกในปี ค.ศ. 1640 แต่ฝ่ายเสียงข้างมากของรัฐสภานำโดยจอห์น พิม (John Pym) ถือโอกาสในการยื่นข้อร้องทุกข์ที่มีต่อระบบการใช้อำนาจในทางที่ผิดของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่าง “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” ที่ผ่านมาและแสดงการต่อต้านพระราชนโยบายในการรุกรานสกอตแลนด์ของพระองค์ พระเจ้าชาลส์ทรงเห็นว่าการกระทำของรัฐสภาเป็นการกระทำที่ “Lèse majesté” (หยามอำนาจของพระมหากษัตริย์) พระองค์จึงมีพระราชโองการให้ยุบรัฐสภาหลังจากได้รับการเรียกเข้าประชุมเพียงสามอาทิตย์ รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภาสั้น

เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา พระเจ้าชาลส์ก็เสด็จไปโจมตีสกอตแลนด์อีกครั้งซึ่งเป็นการละเมิดสัญญาสงบศึกเบอร์วิค และทรงได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน สกอตแลนด์ถือโอกาสรุกรานอังกฤษและเข้ายึดนอร์ทธัมเบอร์แลนด์และเดอแรม.

ขณะเดียวกันทอมัส เวนท์เวิร์ธ หัวหน้าที่ปรึกษาของพระเจ้าชาลส์ ผู้เป็นผู้ปกครองไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1632 ก็ไปตกลงกับผู้นำท้องถิ่นโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์ว่าจะให้เสรีภาพทางศาสนาเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสียภาษีใหม่ที่เวนท์เวิร์ธนำกลับมาถวายพระเจ้าชาลส์

ในปี ค.ศ. 1639 พระเจ้าชาลส์ทรงเรียกเวนท์เวิร์ธกลับอังกฤษ และทรงแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดในปี ค.ศ. 1640 โดยทรงหวังที่จะให้เวนท์เวิร์ธไปทำอย่างเดียวกันนั้นกับสกอตแลนด์ แต่ครั้งนี้เวนท์เวิร์ธไม่ประสบความสำเร็จ และทหารอังกฤษต้องถอยหนีหลังจากเผชิญหน้ากับสกอตแลนด์เป็นหนที่สองในปี ค.ศ. 1640 ทางเหนือของอังกฤษเกือบทั้งหมดจึงถูกยึดโดยสกอตแลนด์ พระเจ้าชาลส์ทรงถูกบังคับให้จ่ายค่าชดใช้สงครามเป็นจำนวน £850 ต่อวันในการหยุดยั้งจ้างไม่ให้สกอตแลนด์เดินทัพต่อไปในอังกฤษ

สถานะการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้พระเจ้าชาลส์ทรงประสบปัญหาทางการเงินหนักกว่าครั้งใดใด ในฐานะพระมหากษัตริย์ของสกอตแลนด์พระองค์ทรงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าบำรุงกองทัพสกอตแลนด์ในอังกฤษ และในฐานะพระมหากษัตริย์ของอังกฤษพระองค์ทรงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าบำรุงกองทัพอังกฤษในการป้องกันอังกฤษเองด้วย เพื่อหาทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในค่าบำรุงรักษากองทัพต่างๆ พระองค์จึงต้องเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1640

รัฐสภายาว

การประชุมของรัฐสภายาว
ดูบทความหลักที่: รัฐสภายาว

รัฐสภาใหม่ที่เรียกเข้ามายิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์หนักยิ่งขึ้นกว่ารัฐสภาเดิม ที่เริ่มโดยการยื่นคำร้องทุกข์ต่อการปกครองของพระองค์และรัฐบาลของพระองค์อันไม่เป็นธรรม โดยมีพิมและจอห์น แฮมพ์เด็น (John Hampden) เป็นผู้นำ นอกจากนั้นรัฐสภาก็ยังดำเนินการปฏิรูปต่างๆ เช่นผ่านพระราชบัญญัติว่ารัฐสภาต้องประชุมอย่างน้อยสามปีต่อครั้งโดยไม่ต้องได้รับการเรียกจากพระมหากษัตริย์ กฎหมายอื่นที่ผ่านก็ได้แก่การระบุว่าพระมหากษัตริย์ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และรัฐสภามีอำนาจเหนือองคมนตรีของพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุบรัฐสภาได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากตัวรัฐสภาเอง รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภายาว” แต่รัฐสภาก็พยายามเลี่ยงข้อขัดแย้งกับพระเจ้าชาลส์โดยการให้สมาชิกลงนามใน “ปฏิญาณความภักดี” ต่อพระองค์

เมื่อต้นปี ค.ศ. 1641 รัฐสภาก็สั่งจับทอมัส เวนท์เวิร์ธ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดและส่งไปขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน จอห์น พิมอ้างว่าการเตรียมพร้อมของเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดในการรณรงค์ในการต่อต้านผู้รุกรานอังกฤษอันที่จริงแล้วเป็นการเตรียมตัวต่อต้านอังกฤษเอง แต่สภาสามัญชนก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาได้ จอห์น พิมและเฮนรี เวน (ผู้พ่อ) (Henry Vane the Elder) จึงหันไปใช้พระราชบัญญัติริบทรัพย์ (Bill of Attainder) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดโดยไม่ต้องพิสูจน์ในศาลแต่โดยการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์ แต่พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงยอมอนุมัติ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดกลัวว่าสงครามจะเกิดขึ้นก็เขียนจดหมายไปถึงพระเจ้าชาลส์ให้ทรงพิจารณาใหม่ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดจึงถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1641.[5]

แต่แทนที่การเสียสละของเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดจะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสงคราม กลับกลายเป็นเหตุที่นำมาซึ่งสงคราม ภายในไม่กี่เดือนหลังจากนั้นกลุ่มโรมันคาทอลิกไอร์แลนด์ผู้ที่กลัวอำนาจของโปรเตสแตนต์ที่เพิ่มมากขึ้นก็เริ่มสงครามก่อนในการปฏิวัติไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 ในขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่าพระเจ้าชาลส์ทรงสนับสนุนฝ่ายโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์ สมาชิกสภาสามัญชนที่เป็นเพียวริตันก็เริ่มแสดงความหวาดหวั่นต่อการกระทำของพระเจ้าชาลส์

สถานะการณ์ระหว่างพระเจ้าชาลส์กับรัฐสภาก็เลวร้ายขึ้นทุกวัน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1642 พระเจ้าชาลส์พร้อมกับกองทหารราว 400 คนก็บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อที่จะพยายามจับตัวสมาชิกห้าคนของรัฐสภาในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แต่ผู้ถูกกล่าวหารู้ตัวเสียก่อนและหลบหนีไปทันก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาถึง ยกเว้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่มิได้หนีไปกับผู้อื่น พระเจ้าชาลส์จึงตรัสถามประธานสภา วิลเลียม เล็นทาลล์ (William Lenthall) ว่าสมาชิกสภาหลบหนีกันไปไหนหมดซึ่งเล็นทาลล์ให้คำตอบที่เป็นที่รู้จักกันว่า “May it please your Majesty, I have neither eyes to see nor tongue to speak in this place but as the House is pleased to direct me, whose servant I am here.”[6] ซึ่งเท่ากับว่าเล็นทาลล์ประกาศตนเป็นผู้รับใช้รัฐสภาแทนที่จะเป็นผู้รับใช้พระมหากษัตริย์

ความกดขี่ในท้องถิ่น

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1642 เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความแตกแยกกันในทางความเห็น ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์ก็เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่นการบังคับเก็บค่าธรรมเนียมในการระบายน้ำในบริเวณเดอะเฟ็นส์ (The Fens) ซึ่งมีผลต่อประชากรเป็นจำนวนมากหลังจากที่ทรงให้สัญญาการระบายน้ำต่อผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผลทำให้ประชากรทางตะวันออกจำนวนมากไปเข้าข้างฝ่ายรัฐสภา เช่นเอ็ดเวิร์ด มองตากิว เอิร์ลแห่งแมนเชสเตอร์ที่ 2 และโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ก็มีเช่น โรเบิร์ต เบอร์ตี เอิร์ลแห่งลินซีย์ที่ 1 (Robert Bertie, 1st Earl of Lindsey) ผู้เสียชีวิตในการต่อสู้ในฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ยุทธการเอ็ดจฮิลล์

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามกลางเมืองอังกฤษ http://www.hcourt.gov.au/speeches/kirbyj/kirbyj_ch... http://users.erols.com/mwhite28/warstat0.htm#EnglC... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=tVugNXnVrVAC&pg=P... http://www.history.com/topics/british-history/engl... http://www.mainlesson.com/display.php?author=abbot... http://www.mainlesson.com/display.php?author=abbot... http://www.nndb.com/people/435/000107114/