อาการ ของ โรคซึมเศร้า

กลวิธีพิมพ์หินรูปหญิงที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อ ค.ศ. 1892

โรคซึมเศร้ามีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความสัมพันธ์กับครอบครัวและในระหว่างบุคคล ชีวิตการทำงานหรือในโรงเรียน นิสัยการนอนและการกิน และสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ[10] ผลเสียต่อการทำหน้าที่และความเป็นอยู่ที่ดีเทียบได้กับโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน[11]

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปกติจะมีอารมณ์เศร้าเกี่ยวกับทุกด้านของชีวิต และไม่สามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมเดิมที่เคยชอบ ผู้ป่วยอาจหมกมุ่นครุ่นคิดถึงความคิดและความรู้สึกว่าตนไร้ค่า ความรู้สึกผิดหรือเสียใจอย่างไม่เหมาะสม ไร้ที่พึ่ง สิ้นหวัง และเกลียดตนเอง[12] ในกรณีที่รุนแรง คนซึมเศร้าอาจมีอาการโรคจิต (psychosis) ได้แก่ ความหลงผิด หรือที่พบน้อยกว่าคือ ประสาทหลอน[13] อาการอื่นมีทั้งสมาธิและความจำไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเหงาหงอย (melancholic) หรือมีลักษณะโรคจิต[14] การปลีกตัวจากสถานการณ์หรือกิจกรรมทางสังคม ความต้องการทางเพศที่ลดลง ความขัดเคืองง่าย[15] และความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย การนอนไม่หลับเป็นเรื่องสามัญในคนไข้ซึ่งปกติเป็นแบบนอนตื่นเช้ามากแล้วนอนต่อไม่ได้[16]แม้ว่าการนอนมากเกินไป (Hypersomnia) ก็พบได้[16] ยาแก้ซึมเศร้าบางอย่างอาจทำให้นอนไม่หลับเพราะมีฤทธิ์กระตุ้น[17]

ผู้ซึมเศร้าอาจรายงานอาการทางกายหลายอย่างรวมทั้งล้า ปวดศีรษะ และปัญหาการย่อยอาหาร ซึ่งเกณฑ์โรคซึมเศร้าขององค์การอนามัยโลก อาการทางกายเป็นปัญหานำมาที่พบมากที่สุดในประเทศที่กำลังพัฒนา[18] มักมีความอยากอาหารตามด้วยน้ำหนักลด แม้จะมีที่ความอยากอาหารและน้ำหนักเพิ่มขึ้นบ้าง[12] ครอบครัวและเพื่อนอาจสังเกตว่า ผู้ป่วยมีกายใจไม่สงบหรือง่วงงุนผิดปกติ[16] ส่วนผู้สูงอายุอาจมีอาการของการรู้อื่นที่เริ่มต้นไม่นานนี้ เช่น ขี้ลืม[14] และการเคลื่อนไหวช้าลงที่เห็นชัดขึ้น[19]โรคซึมเศร้าบ่อยครั้งเกิดร่วมกับโรคทางกายที่สามัญกับผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคพาร์คินสัน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง[20]

เด็กที่ซึมเศร้ามักแสดงอารมณ์หงุดหงิดไม่ใช่อารมณ์ซึมเศร้า[12] และแสดงอาการต่าง ๆ ขึ้นกับอยู่กับอายุและสถานการณ์[21] โดยมากจะไม่สนใจเรียนและมีสมรรถภาพทางวิชาการด้อยลง และอาจจะมีอาการติดคน เรียกร้อง ต้องพึ่งคนอื่น หรือขาดความมั่นใจ[16] อาจวินิจฉัยโรคได้ช้าหรือพลาดเมื่อตีความอาการว่าเป็นสภาพอารมณ์ปกติ[12]

ภาวะร่วม

บ่อยครั้งโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ การสำรวจโรคร่วมแห่งชาติ (National Comorbidity Survey) ปี 2532–2534 ของสหรัฐ รายงานว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าครึ่งหนึ่งมีความวิตกกังวลตลอดชีวิตและโรคที่เกี่ยวข้องกันคือ โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)[22] และอาการวิตกกังวลอาจมีผลสำคัญต่อวิถีการดำเนินของโรคซึมเศร้า คือ ทำให้ฟื้นตัวได้ช้าลง เสี่ยงต่อการกำเริบมากขึ้น และเกิดความพิการและอัตราพยายามฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น[23] มีความเสียงการติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด[24] และผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) ประมาณหนึ่งในสามจะมีโรคซึมเศร้าเกิดร่วมด้วย[25]โรคซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับโรคสมาธิสั้น อาจทำให้วินิจฉัยและบำบัดโรคทั้งสองยากขึ้น[26]ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) และโรคซึมเศร้ามักจะเกิดร่วมกัน[10] โรคซึมเศร้ายังมักเกิดร่วมกับโรคบุคลิกภาพ

บ่อยครั้งโรคซึมเศร้าและความเจ็บปวดเกิดร่วมกัน อาการเจ็บปวดตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไปพบใน 65% ของผู้ป่วยซึมเศร้า และผู้ป่วยระหว่าง 5–85% ที่กำลังเจ็บปวดจะมีโรคซึมเศร้าขึ้นอยู่สถานการณ์คือ มีความชุกในระดับต่ำกว่าในเวชปฏิบัติทั่วไป และสูงกว่าในคลินิกพิเศษ การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าบางครั้งล่าช้าหรือพลาด และผลสามารถเลวลงได้หากสังเกตโรคซึมเศร้าได้แต่เข้าใจผิดถนัด[27]

โรคซึมเศร้ายังสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่สูงขึ้น 1.5–2 เท่า โดยเป็นอิสระต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ และสัมพันธ์โดยตรงหรือโดยอ้อมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่และโรคอ้วนผู้ซึมเศร้ามีโอกาสปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อบำบัดหรือป้องกันโรคหัวใจน้อยกว่า ยิ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ มากขึ้น[28] นอกจากนั้นแล้ว หทัยแพทย์อาจไม่สามารถพบโรคซึมเศร้าพื้นเดิมที่ทำให้ปัญหาโรคหัวใจที่ตนกำลังบริบาลอยู่ยุ่งยากขึ้น[29]

ใกล้เคียง

โรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า (การวินิจฉัยแยกโรค) โรคซึมเศร้าแบบจิตหลอน โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โรคซึมเศร้าหลังคลอด โรคซนสมาธิสั้น โคซูเกะ โทริอูมิ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด โคซูเอะ ยูกิ โรคซาร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคซึมเศร้า http://www.health.nsw.gov.au/mhdao/publications/Pu... http://www.blackdoginstitute.org.au/docs/McKinlay.... http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext... http://www.atypon-link.com/EMP/doi/abs/10.5555/hes... http://ebmh.bmj.com/cgi/content/full/11/3/76 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/76/suppl_1/i4... http://www.bmj.com/cgi/content/full/317/7151/115 http://www.bmj.com/cgi/content/full/322/7284/482 http://www.bmj.com/cgi/content/full/335/7615/328 http://www.co-psychiatry.com/pt/re/copsych/abstrac...