เหตุ ของ โรคซึมเศร้า

แบบจำลองทางสังคม-จิตใจ-ชีวภาพ (biopsychosocial) เสนอว่าปัจจัยทางสังคม ทางจิตใจ และทางชีวภาพล้วนแต่มีบทบาทให้เกิดความซึมเศร้า[30]ส่วนแบบจำลอง diathesis-stress (ความเสี่ยงโรค-ความเครียด) กำหนดว่าความซึมเศร้าจะปรากฏเมื่อความเสี่ยง/ความอ่อนแอ คือ diathesis ถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์เครียดในชีวิต ความเสี่ยงที่มีอาจจะเป็นทางกรรมพันธุ์[31][32]ซึ่งแสดงนัยว่ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบชีวภาพและการเลี้ยงดู (nature and nurture) เป็นผลจากทัศนคติเกี่ยวกับโลกที่เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก[33]โรคอาจจะเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายในสมองน้อยดังที่พบใน cerebellar cognitive affective syndrome[34][35][36]

แบบจำลองเชิงปฏิสัมพันธ์เหล่านี้มีหลักฐานสนับสนุนยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยในประเทศนิวซีแลนด์ได้ทำงานศึกษาตามรุ่นตามแผนในประเด็นว่า ความซึมเศร้าปรากฏในกลุ่มบุคคลที่ตอนแรกเป็นปกติได้อย่างไรแล้วสรุปว่า ความแตกต่างกันของยีน serotonin transporter (5-HTT) มีผลต่อคนที่ประสบกับเหตุการณ์เครียดว่าจะประสบกับความซึมเศร้าหรือไม่โดยเฉพาะก็คือ ความซึมเศร้าอาจจะติดตามเหตุการณ์เช่นนั้น แต่ดูเหมือนจะมีโอกาสสูงกว่าในบุคคลที่มีอัลลีลสั้น ๆ 1-2 แบบของยีน 5-HTT[31]นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาประเทศสวีเดนได้ประเมินการสืบทอดกรรมพันธุ์ของความซึมเศร้า ซึ่งก็คือระดับความแตกต่างการเกิดขึ้นของความซึมเศร้าที่สัมพันธ์กับความแตกต่างทางกรรมพันธุ์ ว่าอยู่ประมาณ 40% สำหรับหญิงและ 30% ในชาย[37]นักจิตวิทยาวิวัฒนาการได้เสนอว่า มูลฐานทางกรรมพันธุ์ของโรคซึมเศร้าเกี่ยวเนื่องอย่างลึกซึ้งกับการปรับตัวที่คัดเลือกโดยธรรมชาตินักวิจัยได้พบว่า ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากสาร (Substance induced mood disorder) ที่คล้ายกับ MDD มีเหตุมาจากการเสพยาเสพติดระยะยาว หรือเกิดจากการขาด (withdrawal) ยาระงับประสาทหรือยานอนหลับบางประเภท[38][39]

ทางชีวภาพ

ดูบทความหลักที่: ชีววิทยาของความซึมเศร้า

สมมติฐานโมโนอะมีน

ภาพของไซแนปส์เคมีระหว่างเซลล์ประสาทสองเซลล์ ยาแก้ซึมเศร้าโดยมากมีอิทธิพลต่อความสมดุลของสารสื่อประสาท 3 อย่าง คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน ยาแก้ซึมเศร้าบางตัวออกฤทธิ์ต่อหน่วยรับสารสื่อประสาท (neurotransmitter receptor) โดยตรง

ยาแก้ซึมเศร้าโดยมากเพิ่มระดับสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีน (monoamine) อย่างน้อยชนิดหนึ่ง คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน โดยเพิ่มในช่องไซแนปส์ที่อยู่ระหว่างเซลล์ประสาทในสมองแต่ก็มียาบางอย่างที่มีผลต่อตัวรับโมโนอะมีน (monoamine receptor) โดยตรง

มีสมมติฐานว่า เซโรโทนินควบคุมระบบสารสื่อประสาทอื่น ๆ ดังนั้น ระดับที่ลดลงของเซโรโทนินอาจมีผลให้ระบบเหล่านั้นทำงานอย่างผิดปกติหรืออย่างผิดพลาด[40]ตามสมมติฐานนี้ (เรียกว่า permissive hypothesis) ความซึมเศร้าเกิดขึ้นเมื่อระดับต่ำของเซโรโทนินโปรโหมตนอร์เอพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทอีกอย่างหนึ่งให้มีระดับต่ำลง[41]มียาแก้ซึมเศร้าที่เพิ่มระดับของนอร์เอพิเนฟรินโดยตรง เทียบกับอย่างอื่นอีกที่เพิ่มระดับโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีนอย่างที่สาม

สังเกตการณ์เหล่านี้รวม ๆ กันแล้วทำให้เกิดสมมติฐานโรคซึมเศร้าที่เรียกว่า สมมติฐานโมโนอะมีน (monoamine hypothesis)ซึ่งแบบปัจจุบันสันนิษฐานว่า การขาดสารสื่อประสาทบางอย่างเป็นเหตุของลักษณะต่าง ๆ ของความซึมเศร้า คือ "นอร์เอพิเนฟรินอาจสัมพันธ์กับความตื่นตัวและความกระปรี้กระเปร่า รวมทั้งความวิตกกังวล ความใส่ใจ และความสนใจในชีวิตเซโรโทนินอาจสัมพันธ์กับความวิตกกังวล ความหมกมุ่น และการควบคุมใจไม่ได้ (compulsion)และโดพามีนอาจสัมพันธ์กับความใส่ใจ แรงจูงใจ ความรื่นเริงใจ และความพอใจ รวมทั้งความสนใจในชีวิต"[42]ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้แนะนำให้ใช้ยาแก้ซึมเศร้าที่มีฤทธิ์ต่อระบบที่แสดงอาการมากที่สุดคือ คนไข้ที่วิตกกังวลและขัดเคือง ควรใช้ยาแบบ Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) หรือ norepinephrine reuptake inhibitor และคนไข้ที่ไม่กระปรี้กระเปร่าหรือไม่ยินดีพอใจในชีวิต ควรจะได้ยาที่เพิ่มนอร์เอพิเนฟรินหรือโดพามีน[42]

นอกจากข้อสังเกตทางคลินิกว่า ยาที่เพิ่มระดับโมโนอะมีนสามารถแก้ความซึมเศร้า ความก้าวหน้าของการศึกษาทางกรรมพันธุ์แสดงว่า ความแตกต่างของลักษณะทางพันธุกรรม (phenotypic variation) ในระบบสมองที่ใช้โมโนอะมีน อาจมีส่วนบ้างเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อความซึมเศร้าและถึงจะพบผลดังที่กล่าวมานี้ เหตุของความซึมเศร้าก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการขาดโมโนอะมีนเพียงเท่านั้น[43]ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยได้ส่องให้เห็นถึงข้อจำกัดของสมมติฐานโมโนอะมีน และความไม่สมบูรณ์ในการอธิบายประเด็นต่าง ๆ ของสมมติฐานได้กลายเป็นเรื่องที่เด่นชัดในวงจิตแพทย์[44]ข้อโต้แย้งอย่างหนึ่งก็คือ การปรับอารมณ์ของยา Monoamine oxidase inhibitor และ SSRI ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ๆ กว่าจะเริ่มได้ผล แม้ว่าการเพิ่มระดับโมโนอะมีนจะปรากฏตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ที่เริ่มยาข้อโต้แย้งอีกอย่างหนึ่งอาศัยการทดลองยาที่ลดโมโนอะมีนคือ แม้ว่าการลดระดับโมโนอะมีนในระบบประสาทอาจจะทำอารมณ์ของคนไข้ที่ไม่ได้ทานยาให้ซึมเศร้าลงนิดหน่อย แต่ว่ากลับไม่มีผลอะไรต่อคนปกติ[43]นอกจากนั้นแล้ว สมมติฐานโมโนอะมีนซึ่งจำกัดอยู่แล้ว ยังอธิบายอย่างง่าย ๆ เกินต่อสาธารณชนทั่วไปโดยเป็นวิธีการตลาด ที่เรียกอาการว่า เป็นการขาดความสมดุลทางเคมี (ในสมอง)[45]

ในปี 2546 มีทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของยีน-สิ่งแวดล้อม (GxE) ที่อธิบายว่า ทำไมความเครียดในชีวิตจึงเป็นตัวพยากรณ์อาการซึมเศร้าในบางคน แต่ไม่ใช่ทุกคน คือขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอัลลีลใน serotonin-transporter-linked polymorphic region (5-HTTLPR)[31]แต่ว่างานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 กลับแสดงว่า แม้ว่าเหตุการณ์เครียดในชีวิตจะสัมพันธ์กับความซึมเศร้า แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่ามีความสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรม 5-HTTLPR[46]และก็มีงานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 อีกงานหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อสรุปหลัง[47]ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมปี 2553 ในเรื่องนี้พบความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างวิธีที่ใช้วัดความทุกข์ยากทางสิ่งแวดล้อม (environmental adversity) กับผลของงานศึกษาต่าง ๆ และพบด้วยว่า งานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 ทั้งสองงานเอนเอียงอย่างสำคัญต่องานศึกษาที่แสดงผลลบ ซึ่งใช้วิธีการวัดความทุกข์ยากโดยการแจ้งเอง (self-report)[48]

สมมติฐานอื่น ๆ

การสร้างภาพสมองคนไข้ซึมเศร้าด้วย MRI พบโครงสร้างทางสมองที่แตกต่างจากบุคคลปกติงานวิเคราะห์อภิมานในงานศึกษาที่สร้างภาพสมองรายงานว่า เทียบกับกลุ่มควบคุม คนไข้ซึมเศร้ามีปริมาตรของโพรงสมองข้าง (lateral ventricles) และต่อมหมวกไตที่สูงกว่า และมีปริมาตรของ basal ganglia, ทาลามัส, ฮิปโปแคมปัส, และสมองกลีบหน้า (รวมทั้งส่วน orbitofrontal cortex และ gyrus rectus) ที่น้อยกว่า[49][50]ยังพบเขต Hyperintensities (เขตภาพที่มีสีเข้มกว่า) ในเนื้อขาวของสมอง ในคนไข้ที่เกิดโรคเมื่ออายุมากกว่าอีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดทฤษฎี vascular depression (คือการไหลเวียนของเลือดที่ลดลงทำให้ซึมเศร้า)[51]

ความซึมเศร้าอาจสัมพันธ์กับกระบวนการกำเนิดของเซลล์ประสาท (neurogenesis) ของฮิปโปแคมปัส[52]ซึ่งเป็นศูนย์ทางอารมณ์และความจำการเสียเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสบางครั้งพบในคนไข้ซึมเศร้า และมีสหสัมพันธ์กับความจำที่แย่ลงและอารมณ์ซึมเศร้ายาอาจจะเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง และกระตุ้นการเกิดของเซลล์ประสาทและดังนั้นจะเพิ่มมวลรวมของฮิปโปแคมปัสซึ่งอาจจะช่วยฟื้นสภาพอารมณ์และความทรงจำ[53][54]ความสัมพันธ์ที่คล้าย ๆ กันก็พบด้วยระหว่างความซึมเศร้ากับบริเวณหนึ่งของ anterior cingulate cortex ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่ประกอบด้วยอารมณ์ (emotional behavior)[55]โปรตีน neurotrophin ประเภทหนึ่งที่มีส่วนในกำเนิดของเซลล์ประสาทก็คือ brain-derived neurotrophic factor (BDNF)ระดับ BDNF ในน้ำเลือดของคนไข้ซึมเศร้าลดลงอย่างรุนแรง (ถึง 3 เท่า) เทียบกับปกติยาแก้ซึมเศร้าจะเพิ่มระดับ BDNF ในเลือดและแม้ว่า ระดับที่ลดลงของ BDNF ก็พบในโรคอื่น ๆ เหมือนกัน แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า BDNF เป็นเหตุส่วนหนึ่งของความซึมเศร้าและมีส่วนในกลไกการทำงานของยาแก้ซึมเศร้า[56]

มีหลักฐานบ้างว่าโรคซึมเศร้าอาจมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากระบบแกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (hypothalamic-pituitary-adrenal axis หรือ HPA axis) ที่ทำงานเกินไป โดยมีผลคล้ายกับการตอบสนองทางประสาท-ต่อมไร้ท่อต่อความเครียดงานศึกษาได้พบระดับฮอร์โมน cortisol ที่สูงขึ้นและต่อมใต้สมองกับต่อมหมวกไตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งแสดงว่า ปัญหาในระบบต่อมไร้ท่ออาจมีบทบาทในโรคจิตเวชบางอย่างรวมทั้ง MDDและการปล่อย corticotropin-releasing hormone มากเกิดไปจากไฮโปทาลามัสเชื่อว่าเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการนี้ และเป็นเหตุของอาการทางการรู้คิดและความตื่นตัว[57]

นอกจากนั้นแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโทรเจน มีหลักฐานว่าเป็นเหตุของความผิดปกติเกี่ยวกับความซึมเศร้าเพราะว่าหญิงมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นหลังจากถึงวัยเจริญพันธุ์ ระหว่างตั้งครรภ์ก่อนคลอด และมีอัตราโรคที่ลดลงเมื่อถึงวัยทอง (menopause)[58]แต่ว่านัยตรงกันข้ามกัน คือ ในช่วงก่อนระดูหรือหลังคลอดที่มีระดับเอสโทรเจนต่ำ ก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน[58]นอกจากนั้นแล้ว การขาดยา (withdrawal) ความผันผัว หรือระยะที่มีระดับเอสโทรเจนต่ำยังสัมพันธ์กับอารมณ์เศร้าอย่างสำคัญการสร้างความเสถียรหรือความคืนสภาพของระดับเอสโทรเจนสามารถรักษาความซึมเศร้าหลังคลอด ระหว่างวัยทอง และหลังวัยทองได้[59][60]

งานวิจัยอื่นได้สำรวจบทบาทที่เป็นไปได้ของโมเลกุลที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ คือ cytokineเพราะว่า อาการของโรคแทบจะเหมือนกับพฤติกรรมเมื่อป่วย (sickness behavior) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อระบบภูมิคุ้มกันกำลังสู้กับการติดเชื้อซึ่งแสดงความเป็นไปได้ว่า ความซึมเศร้าอาจจะมาจากพฤติกรรมเมื่อป่วยที่เป็นการปรับตัวผิด (maladaptive)โดยเป็นผลจากความหมุนเวียนของ cytokine ที่ผิดปกติ[61]งานวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับวรรณกรรมทางคลินิกแสดงบทบาทของ cytokine ที่สนับสนุนให้เกิดการอักเสบ (pro-inflammatory) โดยแสดงว่า มี cytokine ประเภท Interleukin 6 และ TNF-α ในเลือดคนไข้ซึมเศร้าในระดับที่สูงกว่ากลุ่มควบคุม[62]ความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันเช่นนี้อาจทำให้ผลิต prostaglandin E₂ (ซึ่งทำให้เกิดไข้) มากเกินไป และการแสดงออกของยีน COX-2 (ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ) มากเกินไปความผิดปกติในการทำงานของเอนไซม์ indoleamine 2,3-dioxygenase และในเมแทบอลิซึมของทริปโตเฟน-kynurenine อาจทำให้เกิดเมแทบอลิซึมของทริปโตเฟน-kynurenine มากเกินไป ซึ่งก่อสารพิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) คือ quinolinic acid ซึ่งช่วยให้เกิดโรคซึมเศร้าและการออกฤทธิ์ของ NMDA ที่นำไปสู่การสื่อสัญญาณประสาทแบบ glutamatergic มากเกินไป ก็อาจมีบทบาทด้วยเหมือนกัน[63]ปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นรวมทั้งอาหารที่ไม่สมบูรณ์ การสูบบุหรี่ และโรคอ้วน ล้วนสัมพันธ์กับความซึมเศร้า[64]

ทางจิตวิทยา

ลักษณะ (aspects) และพัฒนาการต่าง ๆ ทางบุคลิกภาพดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญของการเกิดขึ้นและความยืนกรานของความซึมเศร้า[65]โดยมีอารมณ์เชิงลบเป็นตัวนำโรคที่สามัญ[66]แม้ว่า คราวแสดงออกของความซึมเศร้าอาจจะมีสหสัมพันธ์ในระดับสูงกับเหตุการณ์ร้ายในชีวิต แต่ว่า วิธีการรับมือปัญหาของบุคคลอาจจะสัมพันธ์กับการฟื้นสภาพจากเหตุการณ์นั้นได้[67]นอกจากนั้นแล้ว ความภูมิใจในตนที่ต่ำ (self-esteem) และความคิดโทษตัวเองหรือบิดเบือนจากความจริง ก็สัมพันธ์กับความซึมเศร้าด้วย ความซึมเศร้ามีโอกาสน้อยกว่าที่จะเกิด และถ้าเกิดก็ฟื้นเร็วกว่า ในกลุ่มบุคคลที่เชื่อมั่นในศาสนา[68][69][70]บางครั้งก็ไม่ชัดเจนว่าปัจจัยอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผลของความซึมเศร้า แต่ว่า คนไข้ที่สามารถพิจารณาและต่อต้านรูปแบบความคิดเชิงลบ บ่อยครั้งจะมีอารมณ์ที่ดีขึ้นและภูมิใจในตนเองมากขึ้น[71]

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก ได้ต่อเติมผลงานของนักจิตวิทยาก่อน ๆ โดยพัฒนาแบบจำลองทางการรู้คิดของความซึมเศร้า (cognitive model of depression)เขาเสนอว่า มีตัวการ 3 อย่างที่เป็นมูลฐานของความซึมเศร้า คือ (1) ความคิดเชิงลบ (Beck's cognitive triad) ที่เป็นความคิดผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับโลก และเกี่ยวกับอนาคตของตน(2) รูปแบบที่เกิดซ้ำ ๆ ของความคิดที่ก่อความซึมเศร้า (schemas)(3) และความคิดที่บิดเบือนจากความจริง (distorted information processing)[72]และจากหลักเหล่านี้ เขาได้พัฒนาเทคนิคการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CBT) ขึ้น[73]

หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับความคิดผิดพลาดยังมาจากงานวิจัยด้านอื่น ๆ อีกด้วย รวมทั้งในเรื่องการประมวลความใส่ใจ (attention processing) การประมวลรางวัล (reward) และการประมวลการลงโทษ (punishment)[74][75]ตามนักจิตวิทยาชาวอเมริกันศาสตราจารย์มาร์ติน เซลิกแมน ความซึมเศร้าในมนุษย์เหมือนกับความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ (learned helplessness) ในสัตว์ทดลอง ที่ดำรงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีทั้ง ๆ ที่สามารถหนีได้ เพราะว่าได้เคยเรียนรู้มาก่อนว่าไม่สามารถทำอะไรได้[76]

ส่วนทฤษฎีความรัก (Attachment theory) ที่พัฒนาโดยจิตแพทย์ชาวอังกฤษ นพ. จอห์น โบล์บี ในคริสต์ทศวรรษ 1960 พยากรณ์ความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่กับคุณภาพความรักที่ได้เมื่อเป็นเด็กทารกจากผู้ใหญ่ที่ให้ความดูแลโดยเฉพาะก็คือ เชื่อว่า"ประสบการณ์การสูญเสีย การแยกจาก หรือการไม่ยอมรับจากพ่อแม่หรือคนที่ให้ความดูแล (ที่สื่อความว่า เด็กเป็นสิ่งที่รักไม่ได้) อาจจะนำไปสู่แบบจำลองความรู้สึกภายในใจที่ไม่ปลอดภัย ... การคิดถึงตนเองภายในใจว่าเป็นคนที่รักไม่ได้และถึงคนที่ควรจะรักว่า ไม่ให้ความรัก หรือว่าเชื่อถือไม่ได้ ก็จะเข้ากับแนวคิด Beck's cognitive triad เป็นบางส่วน"[77]แม้ว่าจะมีงานศึกษาต่าง ๆ ที่ได้ยืนยันหลักพื้นฐานของทฤษฎีนี้ แต่ว่า ผลงานวิจัยก็ยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความรักในวัยเด็กที่แจ้งเองกับความซึมเศร้าที่สังเกตได้ในภายหลัง[77]

คนซึมเศร้ามักจะโทษตัวเองสำหรับเหตุการณ์ร้าย ๆ[78]และดังที่แสดงในงานศึกษาปี 2536 เกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นที่เข้าโรงพยาบาลเหตุความซึมเศร้าที่แจ้งเอง คนที่โทษตัวเองในเหตุการณ์ร้าย ๆ อาจจะไม่ให้เครดิตตัวเองสำหรับเหตุการณ์ที่ดี ๆ[79]แนวโน้มเช่นนี้เป็นลักษณะของการให้เหตุผลต่อพฤติกรรมหรือต่อเหตุการณ์แบบซึมเศร้า (depressive attribution) หรือลักษณะของสไตล์การอธิบายโลกในแง่ร้าย[78]ตามนักจิตวิทยาชาวแคนาดา ดร. อัลเบิร์ต แบนดัวรา คนซึมเศร้าเชื่อในทางลบเกี่ยวกับตนเอง อาศัยประสบการณ์ความล้มเหลว การสังเกตเห็นความล้มเหลวของบุคคลในสังคม การขาดแรงจูงใจทางสังคมว่าตนสามารถที่จะสำเร็จได้ และสภาวะทางกายและทางอารมณ์รวมทั้งความเครียดซึ่งอาจมีผลเป็นแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self-concept) ในเชิงลบ และความไม่เชื่อมั่นในตนเอง (self-efficacy)ซึ่งก็คือ ไม่เชื่อว่าตนสามารถมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์หรือสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้[80][81]

งานศึกษาในหญิงซึมเศร้าแสดงว่า ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การมีลูกตาย การไม่มีคนที่ไว้วางใจ ความรับผิดชอบต่อเด็กเล็ก ๆ หลายคนที่บ้าน การไม่มีงานทำ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับความเครียดอื่น ๆ ในชีวิตและเพิ่มความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า[82]สำหรับผู้สูงวัย ปัจจัยเสี่ยงบ่อยครั้งเป็นปัญหาทางสุขภาพ การเปลี่ยนความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตหรือลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยอาจเปลี่ยนเป็นคนให้ความดูแล หรือคนจำเป็นต้องได้รับความดูแล การเสียชีวิตของคู่ชีวิต หรือความเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์กับเพื่อนสูงอายุไม่ว่าจะโดยจำนวนหรือโดยคุณภาพ เพราะว่าเพื่อนก็ประสบความเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุสุขภาพเช่นกัน[83]

ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของความซึมเศร้าได้ข้อมูลจากจิตวิทยาเชิงจิตวิเคราะห์ (psychoanalytic) และเชิงมนุษยนิยม (humanistic)จากมุมมองเชิงจิตวิเคราะห์แบบดั้งเดิมของจิตแพทย์ชาวออสเตรียซิกมุนด์ ฟรอยด์ ความซึมเศร้าหรือที่เขาเรียกว่า melancholiaอาจจะสัมพันธ์กับความสูญเสียอะไรเกี่ยวกับคนอื่น (interpersonal loss)[84][85]และกับประสบการณ์เบื้องต้นของชีวิต[86]ส่วน Existential therapy ได้เชื่อมความซึมเศร้ากับความปราศจากความหมายในชีวิตในปัจจุบัน[87]และทัศนวิสัยในอนาคต[88][89]

ทางสังคม

ความยากจนและการหลีกจากสังคม (social isolation) สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตที่สูงขึ้นโดยทั่วไป[65]การกระทำทารุณต่อเด็ก (ไม่ว่าจะทางกาย ทางใจ ทางเพศ หรือแม้แต่การละเลย) ก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นภายหลังในชีวิตด้วย[90]ความสัมพันธ์เช่นนี้ดูจะเป็นจริง เพราะว่า ในช่วงพัฒนาการ เด็กต้องเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าสังคมและการทารุณเด็กโดยผู้ใหญ่ที่ให้ความดูแลจะบิดเบือนบุคลิกภาพที่กำลังพัฒนา และจะทำให้เสี่ยงมากขึ้นต่อความซึมเศร้า และสภาวะทางใจและอารมณ์อื่น ๆ ที่ก่อความพิการปัญหาครอบครัว เช่น ความซึมเศร้าของพ่อแม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของแม่) การทะเลาะกันของพ่อแม่หรือการหย่าร้าง การเสียชีวิตของพ่อแม่ หรือปัญหาการเลี้ยงดูเด็กอื่น ๆ ต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยง[65]ในวัยผู้ใหญ่ เหตุการณ์เครียดในชีวิตสัมพันธ์กับการเริ่มอาการซึมเศร้าอย่างสำคัญ[91]ในบริบทเช่นนี้ เหตุการณ์ชีวิตที่เชื่อมกับความไม่ยอมรับทางสังคมดูเหมือนจะสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อความซึมเศร้า[92][93]หลักฐานว่า คราวแรกของอาการซึมเศร้ามีโอกาสจะเกิดตามเหตุการณ์เครียดในชีวิต มากกว่าคราวที่เกิดซ้ำ ๆ เข้ากับสมมติฐานว่า บุคคลอาจจะไวต่อความเครียดเพิ่มขึ้น (sensitization) เมื่อเกิดความซึมเศร้าแบบซ้ำ ๆ[94][95]

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์เครียดในชีวิตกับการมีบุคคลที่คอยช่วยเหลือ (social support) เป็นเรื่องที่ยังไม่ยุติคือ การขาดความช่วยเหลือทางสังคมอาจจะเพิ่มโอกาสที่ความเครียดในชีวิตจะนำไปสู่ความซึมเศร้า หรือว่า อาจจะเป็นรูปแบบของความทุกข์ที่นำไปสู่ความซึมเศร้าโดยตรง[96]มีหลักฐานว่าปัญหาสังคมใกล้ ๆ บ้าน เช่น อาชญากรรมหรือยาเสพติด เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง และการอยู่ในบริเวณที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ดีกว่า ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่า เป็นปัจจัยป้องกันอย่างหนึ่ง[97]ปัญหาที่ทำงาน โดยเฉพาะงานที่หนักมีหน้าที่มากแต่ว่าไม่เปิดโอกาสให้ตัดสินใจเอง สัมพันธ์กับความซึมเศร้า แม้ว่า ความหลากหลายและปัจจัยกวน (confounding factor) ทำให้ยากที่จะยืนยันว่าเป็นความสัมพันธ์แบบเหตุ[98]

ความซึมเศร้าอาจจะมีเหตุจากความเดียดฉันท์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มสังคมที่เกี่ยวกับตนเองซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับความเป็นสมาชิกของคนบางกลุ่ม (เช่น ฉันเป็นเกย์ ไม่ดี) หรือไม่ (เช่น ฉันไม่ดี)ถ้าบุคคลเดียดฉันท์ต่อกลุ่มที่สังคม/คนอื่นประณาม แล้วต่อมากลายเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น อาจจะเกิดความเดียดฉันท์ต่อตนเองแล้วเกิดความซึมเศร้ายกตัวอย่างเช่น เด็กชายในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะเติบโตขึ้นแล้วเรียนรู้ทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มสังคมว่า ชายที่เป็นเกย์ไม่มีศีลธรรมเมื่อเขาโตขึ้นแล้วรู้ตัวว่าตนเป็นเกย์ เขาอาจจะรู้สึกเดียดฉันท์ต่อตนเองแล้วเกิดความซึมเศร้าบุคคลอาจจะเดียดฉันท์ตนเองเพราะประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็กเช่นถูกทารุณกรรมทางวาจาหรือทางกาย[99]

ทางวิวัฒนาการ

จากมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการ มีสมมติฐานว่า โรคซึมเศร้าเพิ่มความเหมาะสมทางการสืบพันธุ์ (reproductive fitness) ของบุคคลในบางกรณีแนวคิดทางวิวัฒนาการเกี่ยวกับความซึมเศร้าและจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการสมมุติกลไกโดยเฉพาะที่ความซึมเศร้าอาจรวมเข้าในกรรมพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งสามารถอธิบายอัตราการสืบทอดพันธุ์ (heritability) และความชุกของความซึมเศร้าในระดับสูง โดยเสนอว่า องค์ประกอบบางอย่างของความซึมเศร้าเป็นการปรับตัว (adaptation)[100]เช่น พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรัก (attachment) และสถานะทางสังคม (social rank)[101]คือ พฤติกรรมในปัจจุบันสามารถอธิบายว่าเป็นการปรับตัวเพื่อควบคุมสัมพันธภาพหรือทรัพยากร แม้ว่าผลอาจจะเป็นการปรับตัวผิด (maladaptive) ในโลกปัจจุบัน[102]

ส่วนจากอีกมุมมองหนึ่ง ผู้บำบัดแบบให้คำปรึกษาอาจจะไม่เห็นความซึมเศร้าว่าเป็นความเจ็บป่วยทางชีวภาพ-เคมี แต่เป็น "ชุดโปรแกรมทางอารมณ์ที่มีวิวัฒนาการในระดับสปีชีส์ที่ออกฤทธิ์ในเชิงลบมากเกินไปโดยมากเมื่อรับรู้ว่า ตนเองมีความหมาย/มีประโยชน์น้อยลงอย่างมาก ซึ่งบางครั้งเชื่อมกับความรู้สึกผิด ความอับอาย หรือความรู้สึกว่าไม่ได้ความยอมรับ"[103]ชุดโปรแกรมนี้อาจจะปรากฏในนักล่า-เก็บของป่าวัยชราในอดีต ที่มีความสำคัญน้อยลงเพราะสมรรถภาพที่ลดลง โดยอาจจะปรากฏเป็นสมาชิกที่ต่าง/แยกห่างจากบุคคลอื่นในสังคมปัจจุบันความรู้สึกว่าตนไม่มีประโยชน์เช่นนี้โดยทฤษฎีสามารถกระตุ้นความสนับสนุนจากญาติและเพื่อนฝูงนอกจากนั้นแล้ว โดยคล้ายกับการที่ความเจ็บปวดทางกายได้วิวัฒนาการเป็นตัวขัดขวางการกระทำที่อาจทำให้บาดเจ็บหนักขึ้น ความเจ็บปวดทางใจอาจจะวิวัฒนาการขึ้นเพื่อป้องกันการตอบสนองแบบไม่คิดหรือแบบปรับตัวผิดต่อสถานการณ์ที่ก่อความเครียด[104]

การติดสารเสพติด

การใช้สารเสพติดโดยเฉพาะเหล้า ยานอนหลับ และกัญชา อยู่ในอัตราที่สูงมากในกลุ่มประชากรที่มีปัญหาทางจิตเวชความซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ สามารถมีเหตุจากการเสพสารเสพติดการวินิจฉัยแบบ differential หรือแบบ dual diagnosis ว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกี่ยวข้องกับสาร หรือเกิดขึ้นกับการใช้สารหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญเมื่อประเมินคนไข้ทางจิตเวช[105]ตามคู่มือวินิจฉัย DSM-IV การวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ไม่ควรทำถ้าเชื่อว่า เหตุมาจาก "ผลทางสรีรภาพโดยตรงของสาร"ดังนั้น เมื่ออาการคล้ายกับ MDD เชื่อว่ามีเหตุโดยตรงจากการเสพสารเสพติดหรือแม้แต่อาการไม่พึงประสงค์จากยา ควรจะเรียกอาการนั้นว่า "substance-induced mood disturbance" (ความปั่นป่วนทางอารมณ์ที่สารทำให้เกิด)การติดเหล้าหรือการเสพเหล้ามากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความซึมเศร้าอย่างสำคัญ[106][107]

โดยมีฤทธิ์เหมือนกับแอลกอฮอล์ ยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน เป็นยาระงับระบบประสาทกลางซึ่งมักจะใช้บำบัดการนอนไม่หลับ ความวิตกกังวล และกล้ามเนื้อกระตุกและเหมือนกับแอลกอฮอล์เช่นกัน ยาประเภทนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งอาจมีเหตุส่วนหนึ่งจากผลที่ไม่พึงประสงค์หรือพิษจากยาระงับประสาท-นอนหลับ (รวมทั้งแอลกอฮอล์) ต่อระบบเคมีประสาท[107]เช่นระดับที่ลดลงของเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟริน[39]หรือการทำงานของวิถีประสาทที่ทำให้เกิดการอักเสบผ่านระบบภูมิคุ้มกัน (immune mediated inflammatory pathway) ในสมอง[108]การใช้ยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีนในระยะยาวสามารถเป็นเหตุหรือทำให้ความซึมเศร้าแย่ลง[109]

ความซึมเศร้าอาจจะเป็นส่วนของ protracted withdrawal syndrome (ปัญหาคงยืนที่เกิดขึ้นหลังจากขาดสารหรือยา)[110][111]คนประมาณ 1/4 ที่กำลังฟื้นสภาพจากการติดเหล้าประสบกับความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ซึ่งอาจจะเป็นนานถึง 2 ปี[112]การติดเมแทมเฟตามีนก็สัมพันธ์กับความซึมเศร้าอย่างสามัญด้วย[113]

ใกล้เคียง

โรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า (การวินิจฉัยแยกโรค) โรคซึมเศร้าแบบจิตหลอน โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โรคซึมเศร้าหลังคลอด โรคซนสมาธิสั้น โคซูเกะ โทริอูมิ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด โคซูเอะ ยูกิ โรคซาร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคซึมเศร้า http://www.health.nsw.gov.au/mhdao/publications/Pu... http://www.blackdoginstitute.org.au/docs/McKinlay.... http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext... http://www.atypon-link.com/EMP/doi/abs/10.5555/hes... http://ebmh.bmj.com/cgi/content/full/11/3/76 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/76/suppl_1/i4... http://www.bmj.com/cgi/content/full/317/7151/115 http://www.bmj.com/cgi/content/full/322/7284/482 http://www.bmj.com/cgi/content/full/335/7615/328 http://www.co-psychiatry.com/pt/re/copsych/abstrac...