การป้องกัน ของ โรคอัลไซเมอร์

จากการศึกษาทางวิทยาการระบาด พบว่ากิจกรรมที่ใช้ทักษะทางสติปัญญาเช่นเล่นหมากรุกหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นประจำมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ที่ลดลง แม้จะไม่พบความสัมพันธ์เชิงเหตุผลก็ตาม

ไม่มีหลักฐานชี้ชัดสนับสนุนว่ามีวิธีหนึ่งวิธีใดที่สามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมีผล การศึกษาทั่วโลกว่าด้วยมาตรการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์มักให้ผลขัดแย้งกัน การศึกษาทางวิทยาการระบาดเสนอว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้อย่างอย่าง เช่น อาหาร ความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม หรือกิจกรรมทางสติปัญญา เป็นต้น กับโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ในประชากร แต่ยังต้องมีการวิจัยตลอดจนการทดลองทางคลินิกเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบว่าปัจจัยเหล่านี้สามารถช่วยลดโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่[15]

อาหาร

บุคคลที่รับประทานอาหารสุขภาพดี หรืออาหารญี่ปุ่น หรืออาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีควมเสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลง[146] อาหารเมดิเตอร์เรเนียนอาจช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วยได้[147] ส่วนุคลที่รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและคาร์โบไฮเดรตอย่างง่าย (มอโนหรือไดแซ็กคาไรด์) มีความเสี่ยงสูงกว่า[148] มีการเสนอว่าประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นกลไกการออกฤทธิ์ลดโรคอัลไซเมอร์[149]

บางทีข้อสรุปต่อส่วนประกอบอาหารทำให้แน่ใจได้ยากเพราะผลแตกต่างกันระหว่างการศึกษาจากประชากรกับการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม มีหลักานจำกัดว่าการใช้แอลกอฮอล์ปริมาณน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวน์แดง มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ที่ลดลง[146] มีหลักฐานเบื้องต้นว่าคาเฟอีนอาจช่วยป้องกัน[150] อาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูงจำนวนหนึ่ง เช่น โกโก้ ไวน์แดงและชา อาจลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์[151][152]

บทปฏิทัศน์เรื่องการใช้วิตามินและเกลือแร่ไม่พบว่ามีหลักฐานสอดคล้องกันในการแนะนำให้รับประทานวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งรวมทั้งวิตามินเอ[153][154] ซี[155][156] รูปแอลฟาโทโคฟีรอลของวิตามินอี[157] เซเลเนียม[158] สังกะสี[159][160] และกรดโฟลิกทั้งที่มีหรือไม่มีวิตามินบี12[161] หลักฐานจากการศึกษาแบบสุ่มที่มีการควบคุมครั้งหนึ่งบ่งชี้ว่ารูปแอลฟาโทโคฟีรอลของวิตามินอีอาจชะลอการเสื่อมของการรู้ แต่มีการตัดสินว่าหลักฐานนี้มีคุณภาพ "ปานกลาง"[157] การทดลองที่พิจารณากรดโฟลิก (บี9) กับวิตามินบีอื่นไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการเสื่อมของการรู้ใด ๆ[162] อาหารเสริมกรดไขมันโอเมกา-3 จากพืชแสัตว์ และกรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิก (DHA) ไม่ปรากฏว่ามีประโยชน์ในโรคอัลไซเมอร์ระดับอ่อนถึงปานกลาง[163][164]

สารเคอร์คิวมิน (curcumin) จากขมิ้นไม่พบประโยชน์ในมนุษย์แม้มีหลักฐานเบื้องต้นในสัตว์[165] ไม่มีหลักฐานสอดล้องกันและน่าเชื่อได้ว่าแปะก๊วยมีผลดีในการป้องกันความบกพร่องของการรู้และภาวะสมองเสื่อม[166] จนถึงปี 2551 ไม่มีหลักฐานรูปธรรมว่าแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) มีผลช่วยลดอาการของโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม[167] อย่างไรก็ดี การวิจัยบางส่วนต่อเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (endocannabinoids) ดูมีหวัง[168]

ยา

แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงด้านโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ภาวะเลือดมีคอเลสเทอรอลมาก ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และการสูบบุหรี่ จะเกี่ยวข้องกับโอกาสเสี่ยงเกิดที่สูงขึ้นและระยะเวลาการดำเนินโรคอัลไซเมอร์[169][170] แต่การใช้ยากลุ่มสแตตินซึ่งเป็นยาลดคอเลสเทอรอลไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันหรือช่วยทำให้การดำเนินโรคอัลไซเมอร์ดีขึ้น[171][172]

ในปี 2550 คาดกันว่าการใช้ยากลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ในระยะยาวช่วยลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้บ้าง[173] หลักฐานเสนอว่า NSAIDs อาจลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับแอมีลอยด์พลาก แต่การทดลองถูกระงับเพราะมีผลเสียสูง[15] ไม่มีการทดลองเพื่อป้องกันโรคใดสำเร็จเลย[15] จนถึงปี 2554 มีการเสนอยาบางชนิดเป็นสารป้องกันก่อนเกิดอาการ แต่ดูมีประโยชน์ไม่เท่ากับการรักษา[174] ฮอร์โมนทดแทนในสตรีหมดประจำเดือนซึ่งเคยใช้กันแต่เดิม อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมด้วยซ้ำ[175][176]

วิถีชีวิต

บุคคลที่ดำเนินกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะทางสติปัญญาเช่นอ่านหนังสือ เล่นหมากกระดาน เล่นปริศนาอักษรไขว้ เล่นดนตรี หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นประจำมีความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลง[177][178] ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการสงวนการรู้ (cognitive reserve theory) ที่ระบุว่า ประสบการณ์ชีวิตบางอย่างส่งผลให้การทำหน้าที่ของประสาทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทำให้ปัจเจกบุคคลมีการสงวนการรู้ซึ่งชะลอการเกิดอาการแสดงของภาวะสมองเสื่อม การศึกษาชะลอการเกิดกลุ่มอาการโรคอัลไซเมอร์แต่ไม่เปลี่ยนระยะเวลาของโรค[179] การเรียนภาษาที่สองแม้มีอายุมากแล้วดูเหมือนช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์[180] กิจกรรมทางกายก็มีความสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลงเช่นกัน[179] การออกกำลังกายสัมพันธ์กับอัตราภาวะสมองเสื่อมที่ลดลง[181] และยังมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์[182]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคอัลไซเมอร์ http://www.sbgg.org.br/profissional/artigos/pdf/de... http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext... http://www.abstractsonline.com/viewer/viewAbstract... http://adisonline.com/drugs/Abstract/2010/70050/In... http://works.bepress.com/cgi/viewcontent.cgi?artic... http://www.dfgdocs.com/Directory/Titles/700.aspx http://www.diagnosticimaging.com/news/display/arti... http://www.diseasesdatabase.com/ddb490.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic13.htm http://www.frx.com/pi/namenda_pi.pdf