สังคมและวัฒนธรรม ของ โรคอัลไซเมอร์

ค่าใช้จ่ายทางสังคม

ภาวะสมองเสื่อม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอัลไซเมอร์ อาจถือได้เป็นโรคที่เสียค่าใช้จ่ายสูงเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับสังคมในทวีปยุโรปและสหรัฐ[20][21] ขณะที่ค่าใช้จ่ายในประเทศอื่นอย่างอาร์เจนตินา[243] และเกาหลีใต้[244] ก็สูงและกำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน ราคาของโรคอาจเพิ่มขึ้นจากสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น และกลายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ AD มีทั้งค่าใช้จ่ายทางการแพทย์โดยตรง เช่น การบริบาลในสถานบริบาล ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ทางการแพทย์โดยตรง เช่น การบริบาลเวลากลางวันในบ้าน (in-home day care) และค่าใช้จ่ายโดยอ้อม เช่น ผลิตภาพที่เสียไปของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล[21] มูลค่านี้แตกต่างกันไปตามการศึกษาต่าง ๆ แต่มูลค่าสำหรับภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกคำนวณไว้ประมาณ 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[245] ส่วนมูลค่าของโรคอัลไซเมอร์ในสหรัฐอาจถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี[21]

ค่าใช้จ่ายสำหรับสังคมมีที่มาจากการบริบาลระยะยาวโดยวิชาชีพสาธารณสุขมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรักษาในสถานพยาบาลซึ่งคิดเป็นสองในสามของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสังคม[20] ค่าใช้จ่ายของการอาศัยที่บ้านก็สูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อนำค่าใช้จ่ายโดยอ้อมสำหรับครอบครัว เช่น เวลาการให้การดูแลและรายได้ที่เสียไปของผู้ดูแล มาพิจารณาด้วย[246]

ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมและการมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง[247] และมีความสัมพันธ์กับเวลาที่ต้องให้การดูแลที่จำเป็นสำรับการบริบาลทางกายภาพ[246] ฉะนั้น การรักษาใด ๆ ที่ชะลอการเสื่อมของการรู้ ชะลอการรับรักษาในสถานพยาบาล หรือลดชั่วโมงของผู้ดูแลจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การประเมินการรักษาปัจจุบันทางเศรษฐกิจแสดงผลลัพธ์ทางบวก[21]

ภาระของผู้ดูแล

ผู้ดูแลหลักมักเป็นคู่สมรสหรือญาติสนิท[248] ทราบกันว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นภาระใหญ่หวงต่อผู้ดูแลซึ่งมีทั้งแง่มุมทางสังคม จิตวิทยา กายภาพหรือเศรษฐกิจ[16][249][250] ปกติผู้ป่วย AD และครอบครัวมักนิยมการบริบาลที่บ้าน[251] ตัวเลือกนี้ยังชะลอหรือกำจัดความจำเป็นต้องได้รับากรบริบาลระดับที่เป็นวิชาชีพมากขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น[251][252] กระนั้น ผู้อยู่อาศัยในสถานบริบาลสองในสามมีภาวะสมองเสื่อม[199]

ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมมีอัตราโรคทางกายและจิตใจสูง[253] ปัจจัยที่สัมพันธ์กับปัญหาทางจิตสังคมที่เพิ่มขึ้นของผู้ดูแลหลัก ได้แก่ การมีผู้ป่วยที่บ้าน ผู้ดูแลเป็นคู่สมรส พฤติกรรมที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งของผู้ป่วย เช่น โรคซึมเศร้า พฤติกรรมเปลี่ยน ประสาทหลอน ปัญหาการหลับหรือปัญหาการเดิน และการแยกตัวจากสังคม[254][255] สำหรับปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ดูแลครอบครัวมักต้องสละเวลางานเพื่อใช้เวลา 47 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยกับผู้ป่วย AD ขณะที่มีค่าใช้จ่ายการบริบาลผู้ป่วยสูง ค่าใช้จ่ายโดยตรงและโดยอ้อมของการบริบาลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์โดยเฉี่ยอยู่ระหว่าง 18,000 ถึง 77,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีในสหรัฐ ขึ้นอยู่กับการศึกษา[246][248]

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมและการสอนยุทธศาสตร์การรับมือไม่ว่าแบบเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มปรากฏว่ามีประสิทธิผลในการเพิ่มสุขภาพจิตของผู้ดูแล[16][256]

สื่อ

มีการพรรณนา AD ในภาพยนตร์อย่าง ไอริส (ปี 2544) ซึ่งยึดบันทึกความทรงจำของไอริส เมอร์ด็อค ภรรยาของจอห์น เบย์ลีย์;[257] เดอะโน้ตบุ๊ก (ปี 2547) ซึ่งอิงนวนิยายชื่อเดียวกันโดยนิโคลัส สปากส์ในปี 2539;[258] เมมโมรีส์ออฟทูมอร์โรว์ (ปี 2549) ซึ่งอิงนวนิยายชื่อเดียวกันโดยฮิโรชิ โอกิวาระ;[259] อะเวย์ฟรอมเฮอร์ (ปี 2549) ซึ่งอิงตามนิยายสั้น เดอะแบร์เคมโอเวอร์เดอะเมาน์เทน ของอลิซ มันโร;[260] อลิซ...ไม่ลืม (Still Alice, ปี 2557) มีเนื้อหาว่าด้วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะแรก โดยอิงตามนวนิยายชื่อเดียวกันเมื่อปี 2550 โดยลิซา จีโนวา สารคดีว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ มัลคอล์มแอนด์บาร์บารา: อะเลิฟสตอรี (ปี 2542) และ มัลคอล์มแอนด์บาร์บารา: เลิฟส์แฟร์เวล (ปี 2550) ซึ่งมีมัลคอล์ม พอยต์ตันนำแสดงทั้งสองเรื่อง[261][262][263]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคอัลไซเมอร์ http://www.sbgg.org.br/profissional/artigos/pdf/de... http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext... http://www.abstractsonline.com/viewer/viewAbstract... http://adisonline.com/drugs/Abstract/2010/70050/In... http://works.bepress.com/cgi/viewcontent.cgi?artic... http://www.dfgdocs.com/Directory/Titles/700.aspx http://www.diagnosticimaging.com/news/display/arti... http://www.diseasesdatabase.com/ddb490.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic13.htm http://www.frx.com/pi/namenda_pi.pdf