การบำบัดและการจัดการ ของ โรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หาย การรักษาที่มีในปัจจุบันให้ผลดีเล็กน้อยต่ออาการแต่โดยสภาพแล้วเป็นเพื่อการประทังเท่านั้น การรักษาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ การรักษาด้วยยา การรักษาทางจิตสังคม และการให้การดูแลผู้ป่วย

การรักษาด้วยยา

รูปร่างโมเลกุล 3 มิติของโดเนเพซิล (donepezil) ซึ่งเป็นแอนติโคลีนเอสเทอเรส (anticholinesterase) ที่ใช้รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์โครงสร้างโมเลกุลของเมแมนทีน (memantine) ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง

ปัจจุบันมียาหรือเภสัชภัณฑ์ 5 ชนิดที่ใช้เพื่อรักษาอาการทางการรับรู้ในโรคอัลไซเมอร์ ประกอบด้วย 4 ชนิดเป็นแอนติโคลีนเอสเทอเรส (anticholinesterase) คือ tacrine, rivastigmine, galantamine และ donepezil และอีก 1 ชนิด คือเมแมนทีน (memantine) ซึ่งเป็นสารต้านตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (NMDA receptor antagonist) ประโยชน์ของการใช้ยาเหล่านี้มีน้อย[6][183][184] ไม่มียาใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าชะลอหรือหยุดการดำเนินโรคอย่างแท้จริง

ลักษณะของโรคอัลไซเมอร์ที่เป็นทราบกันดี คือ กัมมันตภาพของเซลล์ประสาทโคลิเนอร์จิก (cholinergic) มีลดลง[185] มีการใช้แอนติโคลีนเอสเทอเรสเพื่อลดอัตราการสลายแอซิทิลโคลีน (acetylcholine; ACh) ทำให้เพิ่มปริมาณความเข้มข้นของ ACh ในสมองเพื่อชดเชย ACh ที่มีปริมาณลดลงอันเนื่องจากการตายของเซลล์ประสาทโคลิเนอร์จิก[186] มีหลักฐานประสิทธิผลของยาเหล่านี้ในโรคอัลไซเมอร์ขั้นเบาถึงปานกลาง[187][184][183] และมีหลักฐานบ้างสำหรับการใช้ในระยะรุนแรง[183] การใช้ยาเหล่านี้ในความบกพร่องทางการรู้เล็กน้อยไม่แสดงว่ามีผลชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์แม้แต่น้อย[188] ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาการทั้งสองเชื่อมโยงกับปริมาณโคลิเนอร์จิกที่มากเกิน ผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้ในประมาณ 10–20% ของผู้ใช้ยา และมีความรุนแรงระดับเบาถึงปานกลาง และสามารถจัดการได้โดยปรับขนาดยาช้า ๆ[189] ผลที่พบน้อยลงมา เช่น ตะคริว หัวใจเต้นช้า เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเพิ่มการสร้างกรดกระเพาะ[187]

กลูตาเมตเป็นสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้นในระบบประสาท แต่หากมีปริมาณมากเกินในสมองอาจทำให้เซลล์ตายได้จากกระบวนการชื่อว่า ภาวะเอ็กไซโททอกซิก (excitotoxicity) อันเกิดจากการกระตุ้นอย่างมากเกินของตัวรับกลูตาเมต ภาวะเอ็กไซโททอกซิกไม่ได้เกิดเฉพาะในโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังพบในโรคทางระบบประสาทอื่น เช่น โรคพาร์กินสันและโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)[190] เมแมนทีน (Memantine)[191] เป็นสารต้านตัวรับเอ็นเอ็มดีเอชนิดไม่แข่งขัน (noncompetitive) ซึ่งใช้ครั้งแรกเป็นสารต้านไข้หวัดใหญ่ สารนี้จะทำงานในระบบกลูตาเมเทอร์จิกโดยขัดขวางตัวรับเอ็นเอ็มดีเอและยับยั้งการกระตุ้นมากเกินของกลูตาเมต[190] เมแมนทีนมีประสิทธิภาพเล็กน้อยในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ชนิดปานกลางและรุนแรง [192] ผลข้างเคียงของเมแมนทีนยังรายงานพบไม่บ่อยและไม่รุนแรง เช่น ประสาทหลอน สับสน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และล้า[193] การใช้ยาเมแมนทีนและโดเนเพซิลร่วมกันให้ประสิทธิผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีประสิทธิผลเพียงเล็กน้อยในทางคลินิก[194]

ยารักษาโรคจิตนอกแบบ (atypical antipsychotics) มีประโยชน์ในการลดความก้าวร้าวและโรคจิตในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อยู่บ้าง แต่ประโยชน์นั้นอาจมีน้อยกว่าผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาการเคลื่อนไหวหรือการรู้ลดลง[195][196] และการใช้ระยะยาวมีการแสดงว่าสัมพันธ์กับอัตราตายที่เพิ่มขึ้น[196] การหยุดใช้ยาต้านโรคจิตในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ดูปลอดภัย[197]

แม้ว่ายาฮูเปอร์ซีนเอ (Huperzine A) จะดูมีหวัง แต่ยังต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมก่อนแนะนำให้ใช้[198]

การรักษาทางจิตสังคม

ห้องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการบำบัดด้วยบูรณาการการรับความรู้สึก เรียกว่า สโนซีเลน (snoezelen) เป็นการบำบัดผู้ป่วยสมองเสื่อมด้วยจิตสังคมโดยมุ่งเน้นอารมณ์

มีการนำการรักษาทางจิตสังคมมาใช้เสริมกับการรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็นวิธีมุ่งเน้นด้านพฤติกรรม (behaviour-oriented), อารมณ์ (emotion-oriented), การรู้ (cognition-oriented) หรือการกระตุ้น (stimulation-oriented) ส่วนงานวิจัยว่าด้วยประสิทธิผลนั้นยังหาไม่พบและไม่จำเพาะต่อโรคอัลไซเมอร์ แต่มุ่งเน้นไปยังภาวะสมองเสื่อมโดยรวมแทน[199]

การแก้ไขพฤติกรรมคือการพยายามระบุและลดสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและผลที่ตามมาของพฤติกรรมปัญหา วิธีดังกล่าวยังไม่แสดงผลสำเร็จในการทำให้หน้าที่โดยรวมดีขึ้น[200] แต่สามารถช่วยลดปัญหาพฤติกรรมบางอย่างได้ เช่น การกลั้นปัสสาวะไม่ได้[201] ปัจจุบันยังขาดข้อมูลคุณภาพสูงเกี่ยวกับประสิทธิผลของเทคนิคดังกล่าวในการรักษาปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การหนีออกจากบ้าน[202][203] ดนตรีบำบัดมีประสิทธิภาพลดอาการทางพฤติกรรมและจิต[204]

การรักษาที่มุ่งเน้นด้านอารมณ์ได้แก่ การบำบัดด้วยความทรงจำ (reminiscence therapy; RT), การบำบัดด้วยการให้เหตุผล (validation therapy), จิตบำบัดแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy), การบูรณาการการรับความรู้สึก (sensory integration) หรือที่เรียกว่า สโนซีเลน (snoezelen) และการบำบัดด้วยการจำลองการมีอยู่ (simulated presence therapy; SPT) บทปฏิทัศน์คอคแครนไม่พบหลักฐานว่าการรักษาดังกล่าวมีประสิทธิภาพ[205] จิตบำบัดแบบประคับประคองมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รูปนัยน้อยหรือไม่มีเลย แต่แพทย์บางคนพบว่าวิธีดังกล่าวช่วยให้บุคคลที่มีการรู้บกพร่องเล็กน้อยปรับตัวเข้ากับความเจ็บป่วยของตนได้[199] การบำบัดด้วยความทรงจำเกี่ยวข้องกับการอภิปรายประสบการณ์ในอดีตเป็นกลุ่มหรือแยกเดี่ยว ซึ่งมีการใช้ภาพถ่าย สิ่งของในบ้าน บันทึกดนตรีและเสียง หรือสิ่งของที่คุ้นเคยอย่างอื่นในอดีตมาช่วย บทปฏิทัศน์ปี 2561 ของ RT พบว่าผลลัพธ์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การทดลองมีขนาดเล็กและนัยสำคัญทางคลินิกที่น่าสงสัย และมีสถานที่แตกต่างกัน[206] การบำบัดด้วยการจำลองการมีอยู่ตั้งอยู่บนทฤษฎีการยึดติด (attachment) และมีการเล่นบันทึกเสียงของญาติสนิทที่สุดของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีหลักฐานบ้างว่า SPT อาจลดพฤติกรรมท้าทาย[207][208] ท้ายที่สุด การบำบัดด้วยการให้เหตุผลอาศัยพื้นฐานของการยอมรับความเป็นจริงและความจริงส่วนบุคคลของประสบการณ์ผู้อื่น ต่างจากการบูรณาการการรับความรู้สึก (sensory integration) ที่อาศัยการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของการบำบัดสองวิธีนี้[209][210]

เป้าหมายของการรักษาที่มุ่งเน้นการรู้คือการลดความบกพร่องในการรู้ (cognitive deficit) ซึ่งได้แก่การรับรู้ความเป็นจริงและการฟื้นฟูการรู้ การรับรู้ความเป็นจริง (reality orientation) ประกอบด้วยการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเวลา สถานที่ หรือบุคคลเพื่อช่วยให้เข้าใจตัวตนเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานที่ที่เขาอยู่ ในขณะที่การฟื้นฟูการรู้ (cognitive retraining) มุ่งพัฒนาความสามารถที่บกพร่องโดยการบริหารจิต ทั้งสองวิธีการแสดงประสิทธิผลบางส่วนในการทำให้ความสามารถด้านการรู้ดีขึ้น[211][212] แม้ในบางการศึกษาผลดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและมีรายงานว่าเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น ความคับข้องใจ[199]

การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้น เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง กายภาพบำบัด และนันทนาการบำบัดชนิดอื่น การกระตุ้นมีการสนับสนุนอยู่บ้างเพื่อพัฒนาพฤติกรรม อารมณ์ และหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การรักษาเหล่านี้นอกจากจะให้ผลดีในด้านการรักษาแล้วประโยชน์หลักยังช่วยพัฒนาทักษะในชีวิตประจำวันด้วย[199] ประสิทธิผลของการกระตุ้นสมองที่ไม่รุกล้ำและการกระตุ้นสมองแบบรุกล้ำในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ยังไม่แน่ชัด[213]

การดูแลผู้ป่วย

เหตุที่โรคอัลไซเมอร์ยังไม่สามารถรักษาหายขาดได้ และผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ดูแลจึงมีความสำคัญในการรักษาและต้องช่วยจัดการดูแลอย่างระมัดระวังตลอดการดำเนินโรค

ในผู้ป่วยระยะแรกและระยะปานกลาง การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้นและลดภาระต่อผู้ดูแลได้[214][215] ตัวอย่างเช่นการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น การล็อกบ้านและรั้ว การติดป้ายหรือฉลากบนเครื่องใช้ภายในบ้านเพื่อบอกหรือเตือนผู้ป่วย หรือการใช้อุปกรณ์ชีวิตประจำวันที่มีการดัดแปลง[199][216][217] ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาการรับประทาน อาจเตรียมอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือปั่น[218] ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการกลืนลำบากอาจต้องใช้สายให้อาหาร (feeding tube) ในกรณีดังกล่าวผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวควรคำนึงถึงประสิทธิผลและจริยธรรมของการให้อาหารทางสายยางต่อเนื่อง[219][220] ไม่มีข้อบ่งชี้ให้ทำการยึดยั้งผู้ป่วยอยู่กับที่ในทุกระยะของโรค แต่มีบางสถานการณ์จำเป็นต้องใช้วิธีดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายหรือทำอันตรายต่อผู้ดูแล[199]

เมื่อโรคดำเนินไป อาจเกิดปัญหาทางการแพทย์อื่น ๆ ตามมา เช่น โรคในช่องปากและฟัน แผลกดทับ ขาดสารอาหาร ปัญหาสุขอนามัย หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ผิวหนังหรือตา การดูแลอย่างระมัดระวังช่วยป้องกันภาวะดังกล่าว และหากเกิดปัญหาดังกล่าวตามมาแล้วต้องรับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ[54][221] ในระยะสุดท้ายของโรค การรักษาจะมุ่งเน้นการบรรเทาความรู้สึกไม่สะดวกสบายไปจนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต โดยมักอาศัยความช่วยเหลือของฮอสพิส (hospice)[222]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคอัลไซเมอร์ http://www.sbgg.org.br/profissional/artigos/pdf/de... http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext... http://www.abstractsonline.com/viewer/viewAbstract... http://adisonline.com/drugs/Abstract/2010/70050/In... http://works.bepress.com/cgi/viewcontent.cgi?artic... http://www.dfgdocs.com/Directory/Titles/700.aspx http://www.diagnosticimaging.com/news/display/arti... http://www.diseasesdatabase.com/ddb490.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic13.htm http://www.frx.com/pi/namenda_pi.pdf