ชนวนเหตุที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ของ สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย

ดูบทความหลักที่: สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย

สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียเริ่มต้นขึ้นในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งพระองค์ได้รับรู้ถึงภัยคุกคามที่มาจากเยอรมนีและต่อมาได้ประกาศสงคราม ช่วงเวลาดังกล่าวได้ทำให้ฝรั่งเศสอ่อนแอลงมาก และมีผลจนกระทั่งศตวรรษที่ 20

ชัยชนะของสงครามเป็นของปรัสเซียอย่างท้วมท้น และทำให้เกิด การรวมชาติเยอรมันขึ้น แคว้นอาลซัส-ลอแรนของฝรั่งเศสตกอยู่ในมือของเยอรมนี ฝรั่งเศสหวั่นเกรงมากถึงกับต้องถ่วงดุลอำนาจกับเยอรมนีโดยการแสวงหาพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรและจักรวรรดิรัสเซีย

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ด้วยความจริงที่ว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงด้วยการยอมแพ้ของเยอรมนีอย่างกะทันหัน หลายคนจึงอาจนับว่าสงครามโลกครั้งที่สองนั้นสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งแรก กองทัพพันธมิตรไม่ได้เหยียบแผ่นดินเยอรมนีเลยแม้แต่นายเดียว และประชาชนเยอรมันยังคาดหวังว่าสนธิสัญญาสันติภาพที่ตามมาจะยึดตามหลักเกณฑ์ของ หลักการสิบสี่ข้อ ซึ่งหมายความว่า ชาวเยอรมันนั้นโต้เถียงว่า "คนทรยศ" มิได้ยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร เยอรมนียังสามารถที่จะเอาชนะสงครามได้ แต่ว่ากลับไม่เป็นเช่นนั้น เงื่อนไขของสันติภาพนั้นคิอการลงทัณฑ์เยอรมนีให้รับผิดชอบต่อความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มลทินซึ่งได้ทำให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศที่ขมขื่น ประชาชนเยอรมันจึงพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศและหาทางล้างแค้น

การเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของออสเตรียหลังปี 1918

กลุ่มชาตินิยมหลายกลุ่มยังคงตกอยู่ใต้กับดักของชาติอื่น ตัวอย่างเช่น ยูโกสลาเวีย ซึ่งเดิมเป็นราชอาณาจักรชาวเซิร์บ โครแอตและสโลเวนส์ มีกลุ่มเชื้อชาติกว่า 5 เชื้อชาติ ได้แก่ พวกเซิร์บ โครแอต มาซิดอน มอนเตเนกรินส์และสโลเวนส์ ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากสงคราม ตัวอย่างอื่น ได้แก่ การแยกดินแดนดั้งเดิมของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้มีการฉีกออกไปอย่างปราศจากเหตุผลอันสมควรและปราศจากความยุติธรรมภายหลังสงคราม โดยสังเกตได้จาก ฮังการีก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลของสงครามและต้องสูญเสียดินแดนไปกว่าสองในสามส่วน ขณะที่ออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศเดียวกัน มีคณะรัฐบาลร่วมกัน กลับได้รับแคว้นเบอร์เกนแลนด์ แม้ว่าจะสูญเสียความซูเดนเตแลนด์ก็ตาม

ชาวเยอรมันอยู่ในภาวะลำเข็ญหลังสิ้นสุดสงคราม หลังจากสงคราม กองทัพเรือเยอรมันเริ่มกำเริบ และกองทัพบกเยอรมันก็สิ้นหวังเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่เหนือกว่าทั้งกำลังคนและอาวุธ ตามความจริงในข้อนี้ ชาวเยอรมันบางคน เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้พัฒนาแนวคิดที่ว่ากองทัพเยอรมันควรจะได้รับชัยชนะ ฮิตเลอร์ได้ใช้แนวคิดดังกล่าวในการปลุกระดมชาวเยอรมันให้เชื่อว่าถ้าหากเกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง ฝ่ายเยอรมนีจะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน

สาธารณรัฐไวมาร์

สาธารณรัฐไวมาร์ได้ขึ้นมาปกครองประเทศเยอรมนีช่วงระหว่างปี 1918 ถึงปี 1933 ชื่อของสาธารณรัฐได้มาจากนครเยอรมัน ชื่อ ไวมาร์ ซึ่งที่ประชุมสภาแห่งชาติได้กำหนดรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา หลังจากที่จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การปกครองของสาธารณรัฐเป็นแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย เหมือนกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา

พรรคนาซีได้พยายามใช้กำลังเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลใน กบฏโรงเบียร์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 แต่ก็ไม่สำเร็จ ผู้นำนาซีถูกจับกุม

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ทำให้เกิดอัตราว่างงานกว่า 33% ในเยอรมนี และอีก 25% ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนให้ความสนับสนุนแก่การปกครองแบบเผด็จการ เพื่อต้องการการงานที่มั่นคงและอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ทำลายเศรษฐกิจเยอรมนีเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ชาวเยอรมันผู้ตกงานได้สนับสนุนแนวคิดของพรรคนาซี ซึ่งเคยเสียความน่าเชื่อถือไปบ้าง เนื่องจากมีสมาชิกของพรรคที่ไม่แน่นอน เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี และเป็นเชื้อไฟของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจธนาคารได้เข้าไปลงทุนเพื่อที่จะสร้างทวีปยุโรปขึ้นมาใหม่ แต่หลังจาก เหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทตก ค.ศ. 1929 นักลงทุนในสหรัฐอเมริกาก็เลิกการลงทุนในทวีปยุโรป

ลัทธิเผด็จการนาซี

ฮิตเลอร์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 เขาได้ใช้เหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค (ซึ่งมีบางคนกล่าวว่าพรรคนาซีเป็นต้นเหตุเสียเอง) เป็นเหตุให้เขายกเลิกเสรีภาพของประชาชนและนักการเมืองทั้งหมด ซึ่งได้ออกประกาศโดยประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก และรัฐบาลผสม ซึ่งมีแนวความคิดเอียงขวา นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

หลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคนาซีได้ล้มล้างระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ และล้มล้างรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบผ่านรัฐบัญญัติมอบอำนาจ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งพรรคนาซีวางแผน เกลอิชซชาลทุง และทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในเยอรมนี ทำให้อำนาจการปกครองถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง คือ พรรคนาซี ใน "คืนมีดยาว" สมาชิกพรรคนาซีได้สังหารศัตรูทางการเมืองของฮิตเลอร์ หลังจากฮินเดนเบิร์กถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีตกเป็นของฮิตเลอร์ โดยไม่เกิดการต่อต้านจากผู้บัญชาการระดับสูง คำสาบานของเหล่าทหารนั้นหมายความว่า ทหารเยอรมันจะยอมเชื่อฟังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์โดยสมบูรณ์

ต่อมา ฮิตเลอร์ได้ฝ่าฝืนสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาโลคาร์โน เยอรมนีได้ส่งทหารกลับเข้าประจำการในแคว้นไรน์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1936 ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม กองทหารเยอรมันเดินทางโดยรถจักรยาน และสามารถถูกยับยั้งอย่างง่ายดายถ้าหากฝ่ายสัมพันธมิตรยกเลิกแผนการเอาใจฮิตเลอร์ ฝรั่งเศสไม่สามารถทำอะไรได้ในเวลานั้น เนื่องจากขาดเสถียรภาพทางการเมือง และอีกประการหนึ่ง คือ การส่งทหารกลับเข้าประจำการนั้นเกิดขึ้นในวันสุดสัปดาห์ และรัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถประชุมหารือกันได้จนกว่าจะถึงวันจันทร์ ผลที่ตามมา คือ อังกฤษก็มิได้ห้ามปรามเยอรมนีแต่อย่างใด

การบุกครองเอธิโอเปีย

เบนิโต มุสโสลินีได้พยายามขยายอาณาเขตของจักรวรรดิอิตาลีในทวีปแอฟริกาด้วยการบุกครองเอธิโอเปีย ซึ่สามารถดำรงเอกราชได้จากชาติยุโรปผู้แสวงหาอาณานิคมอื่น ๆ ในคำแก้ตัวของเหตุการณ์วอลวอล เมื่อเดือนกันยายน 1935 อิตาลีบุกครองเอธิโอเปียเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม โดยปราศจากการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ สันนิบาตชาติได้ประกาศว่าอิตาลีเป็นผู้บุกครอง แต่ก็ไม่สามารถลงโทษอิตาลีได้แต่อย่างใด

สงครามดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าฝ่ายอิตาลีจะมีกำลังคนและอาวุธที่ดีกว่า (รวมไปถึง ก๊าซมัสตาร์ด) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1936 กองทัพอิตาลีได้รับชัยชนะเด็ดขาดในสงครามที่ ยุทธการเมย์ชิว จักรพรรดิเฮลี เซลาสซี ได้หลบหนีออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ต่อมา สามารถยึดเมืองหลวง อาดดิสอาบาบา ได้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม และอิตาลีสามารถยึดครองได้ทั้งประเทศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม และรวมเอาเอริเทรีย เอธิโอเปียและโซมาลีแลนด์เข้าด้วยกันเป็นรัฐเดี่ยว เรียกว่า แอฟริกาตะวันออกของอิตาลี

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1936 จักรพรรดิเฮลี เซลาสซีได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสันนิบาติชาติประณามการกระทำของอิตาลีและวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเทศอื่นที่ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พระองค์ได้เตือนว่า "วันนี้เป็นคราวของเรา แต่มันจะถึงคราวของท่านเมื่อถึงวันพรุ่งนี้" และจากการที่สันนิบาติชาติกล่าวโจมตีอิตาลี มุสโสลินีจึงประกาศให้อิตาลีถอนตัวออกจากความเป็นสมาชิกของสันนิบาติชาติ

สงครามกลางเมืองสเปน

ดูบทความหลักที่: สงครามกลางเมืองสเปน

เยอรมนีและอิตาลีได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกชาตินิยมสเปน นำโดยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ทางด้านสหภาพโซเวียตเองก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสเปนซึ่งรัฐบาลโซเวียตเห็นว่ารัฐบาลสเปนมีแนวคิดเอียงซ้าย ทั้งสองฝ่ายได้นำยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีใหม่ออกมาใช้ในการทำสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การทิ้งระเบิดทางอากาศ

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1937 เมื่อญี่ปุ่นเข้าตีจีนจากดินแดนแมนจูกัว

การบุกครองเริ่มต้นขึ้นเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าทำลายหัวเมืองหลายแห่ง เช่น เซี่ยงไฮ้ หนานจิงและกว่างโจว และท้ายสุด เมื่อวันที่ 22 และ 23 กันยายน 1937 ได้มีการยื่นคำร้องประท้วง และลงเอยด้วยการลงมติของคณะกรรมการการข่าวภาคพื้นตะวันออกไกลของสันนิบาติชาติ

ผลที่ตามมา กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถยึดเมืองหลวงของจีน คือ หนานจิง และกระทำความโหดร้ายทารุณ เป็นต้นว่า การสังหารหมู่ที่นานกิง

การผนวกออสเตรีย

การผนวกออสเตรียเข้าสู่เยอรมนีในปี 1938 ตามประวัติศาสตร์แล้ว แนวคิดในการสร้างเยอรมนีอันยิ่งใหญ่นั้นก็ได้รับความนิยมในประเทศออสเตรียไม่แพ้กับในประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ปรากฏว่าเพียงหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศได้กำหนดให้ แคว้นเยอรมันออสเตรีย เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี แต่ว่าการกระทำดังกล่าวได้รับการขัดขวางโดยสนธิสัญญาแวร์ซาย เมื่อเวลาผ่านไป ชาวออสเตรียจำนวนมากก็ลืมเรื่องนี้ไป ในฐานะเช่นนี้ พรรคชาติสังคมนิยมแห่งออสเตรียและขบวนการชาตินิยมเยอรมนีแห่งออสเตรียได้พึ่งพาประเทศเยอรมนี นาซีเยอรมนีได้ทำให้พรรคนาซีแห่งออสเตรียถูกกฎหมาย ซึ่งพวกเขาได้มีส่วนสำคัญในการลอบสังหารอัครเสนาบดีแห่งออสเตรีย เอนเกลเบิร์ต ดอลฟัส และให้สมาชิกของพรรคนาซีแห่งออสเตรียหลายคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ

หลังจากที่ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภาไรซ์ตาร์ก ผู้ที่สืบทอดตำแหน่งจากนายดอลฟัส คือ Kurt Schuschnigg ได้พูดอย่างชัดเจนว่า เขาไม่สามารถผลักดันได้ไกลกว่านี้อีก ท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลจากนาซีเยอรมนี เขาจึงได้จัดการลงประชามติ ด้วยความหวังว่าออสเตรียจะยังรักษาเอกราชของตนไว้ได้ เพียงแต่ว่าหนึ่งวันก่อนหน้า พรรคนาซีแห่งออสเตรียสามารถก่อรัฐประหารสำเร็จ และขึ้นสู่อำนาจในออสเตรีย หลังจากการยึดอำนาจครั้งนี้ ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันเดินเข้าสู่พื้นที่ และพรรคนาซีแห่งออสเตรียได้ถ่ายโอนอำนาจให้แก่นาซีเยอรมนีอย่างรวดเร็ว ชาวออสเตรียไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านเหตุการณ์ในครั้งนี้เลย เนื่องจากพวกเขามีความต้องการเช่นนี้อยู่แล้ว และออสเตรียสิ้นสุดการเป็นรัฐเอกราชอย่างสิ้นเชิง อังกฤษ ฝรั่งเศสและฟาสซิสต์อิตาลีซึ่งเคยมีต่อต้านแนวคิดการรวมชาตินี้อย่างรุนแรง ทว่าในตอนนี้กลับไม่ทำอะไรเลย แต่ที่สำคัญก็คือ ชาติเหล่านี้กลับทะเลาะกันเองและทำลายความมั่นคงของแนวสเตรซา และเนื่องจากว่าอิตาลีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ด้วยความไม่ชอบใจ แต่อิตาลีไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องต่อต้านเยอรมนีอีก ต่อมา อิตาลีจึงเริ่มมีความใกล้ชิดกับพรรคนาซี

ข้อตกลงมิวนิก

ดูบทความหลักที่: ข้อตกลงมิวนิก

ซูเดเทินลันท์ก็เป็นอีกหนึ่งแคว้นซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนที่พูดภาษาเยอรมัน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเชโกสโลวาเกียซึ่งมีอาณาเขตดิดต่อกับนาซีเยอรมนี รวมไปถึงมันมีระบบการป้องกันซึ่งสร้างขึ้นผ่านเขตภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่า แนวมากินอต แคว้นซูเดเตนแลนด์มีขนาดเป็นหนึ่งในสามของแคว้นโบฮีเมียเมื่อเทียบกันในด้านขนาด จำนวนประชากรและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เชโกสโลวาเกียมีกองทัพอันทันสมัย 38 กองพล และมีอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธที่ดี และยังเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต

ฮิตเลอร์ได้กดดันให้แคว้นซูเดเตแลนด์รวมเข้ากับนาซีเยอรมนี และยังได้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเยอรมันในพื้นที่ ตามข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเช็คข่มเหงและทำร้ายชาวเยอรมัน ทำให้กลุ่มชาตินิยมโอนเอียงไปทางนาซีเยอรมนี หลังจากฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียแล้ว พรรคการเมืองเยอรมันทุกพรรค (ยกเว้นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี) รวมเข้ากับ พรรคซูเดเทินเยอรมันทั้งหมด กิจกรรมทางการทหารและพวกที่นิยมความรุนแรงได้เผยตัวออกมาในช่วงเวลานี้ รัฐบาลเชโกสโลวาเกียจึงประกาศกฎอัยการศึกในแคว้นซูเดเทินลันท์เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ว่ากฎดังกล่าวก็เป็นเพียงการเข้าแทรกแซงเหตุการณ์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่พวกชาตินิยมเชโกสโลวาเกียผุดขึ้นมา และหมดความเคลือบแคลงต่อการกระตุ้นของรัฐบาลนาซีและรัฐบาลสโลวาเกีย พรรคนาซีสบโอกาส อ้างว่าจะผนวกซูเดเทินลันท์เข้าสู่นาซีเยอรมนีเพื่อปกป้องชาวเยอรมันในพื้นที่

ในข้อตกลงมิวนิก ซึ่งได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1938 นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร นายเนวิล เชมเบอร์ลิน และผู้นำฝรั่งเศสได้เอาใจฮิตเลอร์ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ปล่อยให้เยอรมนีส่งทหารเข้าสู่พื้นที่และให้รวมเข้าสู่นาซีเยอรมนี "เพื่อประโยชน์แก่สันติภาพ" เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ฮิตเลอร์ได้ให้สัญญาว่าเขาจะไม่แสวงหาดินแดนใหม่เพิ่มเติมในทวีปยุโรป เชโกสโลวาเกียซึ่งได้เรียกระดมพลไปแล้วมีทหารกว่าหนึ่งล้านนาย และเตรียมพร้อมที่จะทำการรบ กลับไม่มีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ เมื่อผู้แทนอังกฤษและฝรั่งเศสได้แจ้งให้เชโกสโลวาเกียทราบ และถ้าหากเชโกสโลวาเกียไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศศจะถือว่าเชโกสโลวาเกียจะต้องรับผิดชอบต่อสงครามที่จะเกิดขึ้น ประธานาธิบดีเอ็ดวาร์ด บีเนส จำต้องยอมรับข้อเสนอ เยอรมนีจึงเข้ายึดซูเดเทินลันท์โดยไม่มีการต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีได้ฉีกข้อตกลงมิวนิก และบุกกรุงปราก และสโลวาเกียประกาศเอกราช ประเทศเชโกสโลวาเกียล่มสลาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยุตินโยบายเอาใจฮิตเลอร์ของอังกฤษและฝรั่งเศส และปล่อยให้เยอรมนีมีอำนาจในทวีปยุโรป

การบุกครองแอลเบเนีย

หลังจากเยอรมนียึดครองเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ อิตาลีมองเห็นว่าตนอาจจะเป็นสมาชิกที่สองของฝ่ายอักษะ กรุงโรมได้ยื่นคำขาดแก่กรุงติรานา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1939 โดยต้องการให้อิตาลียึดครองแอลเบเนีย พระเจ้าซ็อกที่ 1 แห่งแอลเบเนีย ปฏิเสธที่จะได้รับเงินตอบแทนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแลกกับการยึดแอลเบเนีย เมื่อวันที่ 7 เมษายน มุสโสลินีส่งกองทัพอิตาลีเข้าบุกครองแอลเบเนีย หลังจากการรบในช่วงเวลาสั้น ๆ แอลเบเนียก็พ่ายแพ้ แต่ยังคงสู้อย่างห้าวหาญ

สงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น

ดูบทความหลักที่: ยุทธการที่ฮาลฮิน กอล

ในปี 1939 กองทัพญี่ปุ่นโจมตีจากทางเหนือของแมนจูกัวเข้าสู่เขตไซบีเรีย ซึ่งถูกตีแตกกลับมาโดยกองทัพโซเวียตภายใต้การนำของนายพลเกออร์กี จูคอฟ หลังจากการรบครั้งนี้ สหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นก็เป็นมิตรกันเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1945 ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแผนการของตนโดยหาทางขยายอาณาเขตของตนลงไปทางใต้ และนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาบนแผ่นดินฟิลิปปินส์ และแนวเส้นทางเดินเรือของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ ส่วนทางด้านสหภาพโซเวียตก็ได้มุ่งเป้าไปทางทิศตะวันตก และคงทหารแดงไว้ประมาณ 1,000,000-1,500,000 นายเพื่อรักษาแนวชายแดนที่ติดกับญี่ปุ่น

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพเป็นเพียงแต่สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ซึ่งลงนามในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ

ในปี 1939 ทั้งนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตต่างก็ยังไม่พร้อมที่จะทำสงครามระหว่างกัน สหภาพโซเวียตซึ่งเสียดินแดนโปแลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 แม้ว่าสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพจะเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกันอย่างเป็นทางการ แต่ทว่าตอนท้ายของสนธิสัญญาดังกล่าวก็ยังมีข้อตกลงลับต่อท้ายสนธิสัญญา ซึ่งเป็นการแบ่งฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์และโรมาเนีย ให้อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของกันและกัน

ภายหลังจากสนธิสัญญาดังกล่าว ประเทศที่ได้กล่าวมาข้างต้นก็ได้ถูกบุกครอง โดยถูกยึดครองหรือถูกบังคับให้ยกดินแดนให้แก่สหภาพโซเวียต นาซีเยอรมนี หรือทั้งสองประเทศ

การบุกครองโปแลนด์

ได้มีการถกเถียงกันว่าในปี 1933 โปแลนด์ได้พยายามที่จะชักจูงให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมกับตนในความพยายามที่จะโจมตีเยอรมนีหลังจากที่พรรคนาซีมีอำนาจในประเทศเยอรมนี เหตุการณ์อันตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างโปแลนด์และเยอรมนีนั้นเกี่ยวข้องกับนครเสรีดานซิกและฉนวนโปแลนด์ เหตุการณ์นี้ได้สงบลงในปี 1934 หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ในฤดูใบไม้ผลิปี 1939 เหตุการณ์อันตึงเครียดก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง และท้ายที่สุด หลังจากได้ยื่นข้อเสนอมากมาย เยอรมนีก็ได้ประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูต และไม่นานหลังจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพได้ลงนาม การโจมตีโปแลนด์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเคยรับประกันความเป็นเอกราชของโปแลนด์ และได้ยื่นคำขาดแก่เยอรมนีให้ถอนกำลังออกจากโปแลนด์โดยทันที เยอรมนีปฏิเสธ ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี แต่ทว่าทั้งสองก็มิได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใดนัก ส่วนทางด้านตะวันออก สหภาพโซเวียตบุกครองโปแลนด์ในวันที่ 17 กันยายน

การโจมตีสหภาพโซเวียต

ดูบทความหลักที่: ปฏิบัติการบาร์บารอสซา

ด้วยการโจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ได้ขยายขอบเขตของสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากอังกฤษยังมิได้พ่ายแพ้ และผลที่ตามมา ก็คือ การทำศึกสองด้าน แต่ฮิตเลอร์กลับเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย และโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างเด็ดขาด หลังจากนั้น เยอรมนีก็จะได้ยึดครองดินแดนทั้งหมด

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานใหม่ที่สามารถเชื่อได้ว่า ถ้าหากเยอรมนีไม่โจมตีสหภาพโซเวียตแล้ว สตาลินก็อาจสั่งการให้กองทัพแดงบุกครองนาซีเยอรมนีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของนาซีเยอรมนี เนื่องจากกองทัพบกเยอรมันไม่สามารถแสดงแสงยานุภาพการโจมตีสายฟ้าแลบ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เยอรมนีสามารถรับมือกับกองทัพโซเวียตได้ก่อน นอกจากนั้น ลักษณะภูมิประเทศของเยอรมนีทางด้านตะวันออกนั้นไม่เหมาะที่จะทำสงครามตั้งรับ เนื่องจากเป็นที่ราบและเปิดโล่ง

การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

ดูบทความหลักที่: การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

ราชนาวีจักรวรรดิญี่ปุ่นได้โจมตีท่าเรือเพิร์ล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ด้วยความหวังว่าจะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก ทำให้สหรัฐสูญเสียเรือรบและทหารเป็นจำนวนมาก

ในวันเดียวกันนี้ เยอรมนีประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนอเมริกันยุติแนวคิดการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวของตน และเข้าสู่สงคราม

ใกล้เคียง

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สาเหตุไข้หวัด สาเหตุการเกิดหลุมยุบ สาเหตุของโรคตับแข็ง ความสมเหตุสมผลภายใน ความสมเหตุสมผลเชิงสถิติของข้อสรุป ความสมเหตุสมผล (แก้ความกำกวม) ความสมเหตุสมผลทางนิเวศ ความสมเหตุสมผลภายนอก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง http://books.google.com/books?id=u5KgAAAACAAJ&dq=M... http://www.historychannel.com/thcsearch/thc_resour... http://online.wsj.com/article/SB120481455326416671... http://www.american.edu/ted/ice/saar.htm http://www.calvin.edu/academic/cas/gpa/goeb21.htm http://www.uhpress.hawaii.edu/cart/shopcore/?db_na... http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/fb20070311a... http://www.winstonchurchill.org/i4a/pages/index.cf... http://www.worldfuturefund.org/wffmaster/Reading/G... http://www.st-andrews.ac.uk/~pv/munich/doclist.htm...