ประวัติศาสตร์ ของ ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–สหรัฐ

ต้นกำเนิด

เรือเมย์ฟลาวเออร์ทำการขนส่งผู้แสวงบุญสู่โลกใหม่ ในปี พ.ศ. 2163 ดังที่ปรากฏในรูปวาด เดอะเมย์ฟลาวเออร์ในท่าเรือแห่งพลีมัธ ของวิลเลียม ฮาลแซล วาดขึ้นในปี พ.ศ. 2425

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2122 เซอร์ฟรานซิส เดรก นักสำรวจชาวอังกฤษผู้ซึ่งเดินทางด้วยเรือใบชื่อโกลเดนไฮด์ ล่องไปถึงยังท่าเรือบนพื้นแผ่นดินแห่งหนึ่งของโลกใหม่ ซึ่งเขาเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า โนวา อัลบียอน (Nova Albion) เป็นภาษาละตินที่แปลว่า บริเตนใหม่ (New Britain) และอ้างเอกสิทธิ์แห่งอังกฤษเหนือดินแดนนั้น แต่บริเวณท่าเรือที่เขากล่าวถึงนั้นกลับไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แท้จริงได้และยังคงเป็นปริศนา ซึ่งจากแผนที่โบราณหลายฉบับเช่นของ โจโดคัส ฮอนดิอุส นักวาดแผนที่ชาวเฟลมิช ได้กล่าวไว้ว่าสถานที่ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาตั้งอยู่บริวเณที่เป็นรัฐบาฮากาลิฟอร์เนียในปัจจุบัน ในปัจจุบันทฤษฎีที่แพร่หลายและได้รับการสนับสนุนโดยนักประวัติศาสตร์ก็คืออันที่จริงแล้ว ฟรานซิส เดรกได้ล่องเรือไปเทียบท่าที่ทางเหนือของแคลิฟอร์เนียใกล้กับพอยต์เรย์ ไม่ห่างจากสะพานโกลเดนเกตในปัจจุบันมากนัก ส่วนอีกสถานที่ที่มักจะอ้างกันบ่อยครั้งก็คือ เวลโคฟ, รัฐออริกอน

ในปี พ.ศ. 2128 ความพยายามของอังกฤษในการก่อตั้งอาณานิคมครั้งแรกก็คืออาณานิคมโรอาโนค หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาณานิคมที่สาบสูญ นำโดย เซอร์วอลเตอร์ ราเลจ์, ผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ แต่ในท้ายที่สุดอาณานิคมแห่งนี้ก็ล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2130 เนื่องจากเสบียงอาหารที่ได้รับมีไม่แน่นอนตลอดจนการปล่อยปะละเลยของเหล่าชาวอาณานิคม อาณานิคมถาวรแห่งแรกของอังกฤษบนพื้นทวีปอเมริกาเหนือก็คือนิคมเจมส์ทาวน์ในอาณานิคมเวอร์จิเนีย ก่อตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ในฐานะอาณานิคมบนกรรมสิทธิ์ (Charter colony) เมื่อ เรือซูซานคอนสแตนส์, เรือดิสคัฟเวอร์รี และเรือก็อดสปีด เข้าเทียบชายฝั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2150 ส่วนชาวแอฟริกันผิวดำถูกส่งขึ้นบนภาคพื้นทวีปเป็นครั้งแรกที่เวอร์จิเนียประมาณปี พ.ศ. 2162 ซึ่งบุคลคลเหล่านี้ถูกถือว่าเป็นทาสในสัญญาการค้า ในปี พ.ศ. 2167 อาณานิคมเวอร์จิเนียก็สิ้นสุดความเป็นอาณานิคมบนกรรมสิทธิ์ภายใต้การบริหารงานของบริษัทเวอร์จิเนียแห่งลอนดอน และได้กลายมาเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในปี พ.ศ. 2241 ส่วนเมืองหลวงก็ถูกย้ายจากเจมส์ทาวน์ลึกเข้าไปในแผ่นดินบริเวณพื้นที่การเกษตรตอนกลางของอาณานิคม และตั้งชื่อว่าวิลเลียมส์เบิร์ก ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ

กลุ่มผู้ตั้งรกรากเหล่านี้เดิมเป็นชาวโปรแตสแตนท์กลุ่มเล็ก ๆ ที่มีรากเหง้าอยู่ในอังกฤษและสาธารณรัฐดัตช์ ซึ่งพวกเขาก็ได้ร่าง เมย์ฟลาวเออร์คอมแพค ขึ้น ซึ่งเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกในการปกครองตนเองของเหล่าผู้ตั้งรกราก และยังให้อำนาจพิเศษในการปกครองตนเองระหว่างการเดินทางบนเรืออีกด้วย ต่อมาชาวโปรแตสแตนท์กลุ่มพิเศษนี้ก็ได้ล่องมากับเรือ เมย์ฟลาวเออร์ เมื่อมาถึงยังภาคพื้นทวีป เหล่าผู้ตั้งรกรากก็ได้สถาปนาอาณานิคมพลีมัธขึ้นในปี พ.ศ. 2163 โดยนายวิลเลียม แบรดฟอร์ด ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการคนแรกของอาณานิคม และต่อมากลุ่มเพียวริตันก็ได้สถาปนาอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ขึ้นในปี พ.ศ. 2172 พร้อมกับผู้ตั้งรกรากจำนวนสี่ร้อยคน ผู้ที่พยายามจะปฏิรูปคริสตจักรแห่งอังกฤษเสียใหม่ด้วยการจัดตั้งคริสตจักรแห่งใหม่ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าบนผืนแผ่นดินของโลกใหม่

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2165 สิทธิบัตรหลวงจากแผ่นดินแม่ซึ่งได้รับการยินยอมจากเฟอร์ดินันโด จอร์จส์ และจอห์น เมสัน แห่งคณะกรรมาธิการพลีมัธสำหรับนิวอิงแลนด์ (Plymouth Council for New England) มีราชโองการให้จัดตั้งจังหวัดเมน มีพื้นที่ในแนวเหนือ - ใต้ระหว่างเส้นละติจูดที่สี่สิบ และเส้นละติจูดที่สี่สิบแปด ส่วนพื้นที่ในแนวตะวันออก - ตะวันตกกินพื้นที่ระหว่างชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ (ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก) ไปจนสุดทะเลฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ (ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ผู้ทรงลงพระนามาภิไธยกรรมสิทธิ์หลวงในการจัดตั้งจังหวัดแมริแลนด์

ในปี พ.ศ. 2175 กรรมสิทธิ์หลวงถูกลงพระนามาภิไธยโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งใจความมีราชโองการจัดตั้งอาณานิคมในครอบครอง (Proprietary Colony) หรือที่รู้จักกันในนามจังหวัดแมริแลนด์ และยังกำหนดไว้ว่าอาณานิคมแห่งนี้จะต้องถูกปกครองดูแลโดยเหล่าผู้ที่สืบสายเลือดมาจากบารอนแห่งบัลติมอร์ ซึ่งปัจจุบันได้หายสาบสูญไปหมดจนกลายมาเป็นตำแหน่งเพียเรจแห่งไอร์แลนด์ (Peerage: เป็นตำแหน่งหนึ่งของขุนนาง) และจังหวัดแมริแลนด์นี้ถูกจัดตั้งขึ้นก็เพื่อให้เป็นอาณาเขตที่ปลอดภัยสำหรับชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ตั้งรกรากอยู่บนพื้นทวีปอเมริกาเหนือ

ในปี พ.ศ. 2179 อาณานิคมโรดไอแลนด์และพื้นที่เกษตรกรรม (Colony of Rhode Island and Providence Plantations) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยโรเจอร์ วิลเลียมส์ ผู้เป็นนักเทววิทยา, นักเทศน์และนักภาษาศาสตร์ ซึ่งได้รับมาจากหัวหน้าชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองชื่อคานอนิคัส ผู้ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าได้ส่งโรเจอร์และพวกพ้องมาเพื่อทำการตั้งรกรากที่นี่

ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2179 ได้มีการสถาปนาอาณานิคมคอนเนตทิคัตขึ้น เดิมรู้จักกันในนามอาณานิคมแม่น้ำ (River Colony) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่หลบภัยของบุคคลสำคัญในกลุ่มเพียวริตัน ภายหลังรัฐคอนเนตทิคัตได้กลายมาเป็นสมรภูมิอันนองเลือดระหว่างชาวอังกฤษกับชนอเมริกันพื้นเมืองในสงครามเปกอต (Pequot War) ตลอดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1630

ในปี พ.ศ. 2206 กรรมสิทธิ์หลวงถูกลงพระนามาภิไธยให้สถาปนาจังหวัดแคโรไลนา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งปกครองโดยเจ้าผู้ครอบครอง (Lords Proprietor) อันประกอบไปด้วยขุนนางอังกฤษแปดคน ภายใต้การนำอย่างไม่เป็นทางการโดยแอนโธนี แอชลีย์ คูเปอร์ เอิร์ลแห่งแชฟเทอร์เบอร์รีที่ 1 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ ภายในจังหวัดได้มีการแบ่งแยกออกเป็นเขตต่าง ๆ ทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่ชาวอาณานิคมไม่ยอมรับในรายชื่อผู้ลงสมัครเป็นคณะรัฐบาล ท้ายที่สุดการแบ่งแยกออกจากกันได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2272 เมื่อจังหัวแคโรไลนาถูกยุบและแบ่งออกเป็นสองอาณานิคมหลวงคือ จังหวัดนอร์ทแคโรไลนาและจังหวักเซาท์แคโรไลนา ตามความเห็นชอบของเจ้าผู้ครอบครองเจ็ดในแปดคน ซึ่งได้ทำการขายผลประโยชน์ที่ดินของตนไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2282 จังหวัดเซาท์แคโรไลนาได้ทำการแบ่งแยกดินแดนในฐานะอาณานิคมร่วมออกไปอีก โดยทำการสถาปนาอาณานิคมซึ่งลงโทษโดยกฎหมายสำหรับลูกหนี้ รู้จักกันในนามจังหวัดจอร์เจีย ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทั้งนี้จังหวัดจอร์เจียยังถูกสถาปนาให้เป็นรัฐกันชนระหว่างส่วนที่เหลือของบริติชอเมริกากับฟลอริดาของสเปนที่อยู่ทางใต้

หลังจากที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบของความเป็นอาณานิคม ในตอนท้ายนิวสวีเดนและนิวเนเธอร์แลนด์ก็สิ้นสุดตัวเองลงในปี พ.ศ. 2198 และในปี พ.ศ. 2207 ตามลำดับ ต่อมาอาณานิคมเดลาแวร์และเมืองหลวงนิวคาสเซิลได้ถูกสถาปนาขึ้นแทนโดยชาวอังกฤษ

ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2179 นิวเนเธอร์แลนด์สิ้นสุดการเป็นอาณานิคมลงในขณะที่สาธารณรัฐดัตช์ยอมสละอำนาจของตนเอง อังกฤษได้รับดินแดนส่วนนั้นมาปกครองในฐานะอาณานิคม ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2208 พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้ซึ่งเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งยอร์ค ทรงลงพระนามาภิไธยในกรรมสิทธิ์หลวงให้สถาปนาจังหวัดนิวยอร์ก ดังนั้นเมืองนิวอัมสเตอร์ดัมจึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิวยอร์กด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากดัตช์สู่อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2217 จังหวัดนิวเจอร์ซีย์ตั้งชื่อตามเกาะเจอร์ซีย์ แยกเขตการปกครองออกมาจากจังหวัดนิวยอร์ก ซึ่งในจังหวัดนิวเจอร์ซีย์ยังแบ่งเขตบริหารออกเป็นสองเขตคือนิวเจอร์ซีย์ตะวันออกและนิวเจอร์ซีย์ตะวันตก การแยกเขตการปกครองในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากดยุกแห่งยอร์คค้างชำระหนี้สินให้แก่เซอร์จอร์จ คาร์ตเรต จึงแบ่งที่ดินบางส่วนของจังหวัดนิวยอร์กชำระแทน

เดอะเควกเคอร์ (The Quaker: สมาคมเคร่งศาสนาแห่งหนึ่งในอังกฤษ) หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า เดอะเรลิกเจียสโซไซตีออฟเฟรนด์ส (the Religious Society of Friends) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามนุษย์แต่ละคนสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ เดิมเควกเคอร์มีถิ่นกำเนิดที่แผ่นดินอังกฤษก่อนจะแพร่ขยายมายังอเมริกา แต่หนทางของเควกเคอร์ในอเมริกาก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทีเดียว พวกเขาเคยถูกเนรเทศออกจากอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ซึ่งถูกปกครองด้วยกลุ่มเพียวริตันผู้เป็นศัตรู ดังนั้นเหล่าเควกเคอร์จึงอพยพย้ายถิ่นไปยังจังหวัดนิวเจอร์ซีย์ จนในที่สุดหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนามว่าวิลเลียม เพนน์ ได้รับรางวัลพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์หลวงจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี พ.ศ. 2224 เพื่อสถาปนาจังหวัดเพนซิลเวเนียซึ่งในท้ายที่สุดเควกเคอร์ทั้งหลายก็ลงหลักปักฐานเป็นการถาวร ณ ดินแดนแห่งนี้ ต่อมานครฟิลาเดลเฟียได้กลายมาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเพนซิลเวเนียและใหญ่เป็นอันดับสองในจักรวรรดิอังกฤษรองจากลอนดอน เช่นเดียวกับที่มันได้กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าและการพาณิชย์บนภาคพื้นทวีปอเมริกา

ไม่นานภายหลังจากเขตปกครองแห่งนิวอิงแลนด์ล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2232 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรวบรวมอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์, อาณานิคมพลีมัธ, จังหวัดนิวแฮมป์เชียร์, จังหวัดเมน, อาณานิคมโรดไอแลนด์และพื้นที่เกษตรกรรม, อาณานิคมคอนเนตทิคัต และเคาน์ตีแนร์แรแกนเซตหรือคิงส์โพรวินซ์ ทั้งนี้การรวมตัวกันอย่างถาวรของอาณานิคมพลีมัธและเกิดอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2234 โดยการสถาปนาอาณานิคมใหม่ที่รู้จักกันในนามจังหวัดอ่าวแมสซาชูเซตส์

จังหวัดนิวแฮมป์เชียร์เคยเป็นอาณานิคมหลวงของอังกฤษ ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2234 ต่อมากรรมสิทธิ์หลวงถูกประกาศเป็นกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2235 โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็ครองราชบัลลังก์อังกฤษและสกอตแลนด์ร่วมกัน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการสถาปนาจังหวัดอ่าวแมสซาชูเซตส์

การอพยพ

ระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 จำนวนผู้อพยพชาวอังกฤษและชาวเวลส์ที่ไปยังอาณานิคมทั้งสิบสามมีมากถึง 350,000 คน แต่ในศตวรรษถัดมาหลังจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหภาพ พ.ศ. 2250 กลับกลายเป็นว่าชาวสกอตแลนด์และชาวไอริชคือผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางไปยังอเมริกา[9]

อาณานิคมทั้งสิบสามแห่งล้วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสแทบทั้งสิ้น ทาสที่อาศัยอยู่ในอาณานิคมทางตอนกลางและอาณานิคมในภูมิภาคนิวอิงแลนด์ส่วนมากทำงานเป็นผู้รับใช้ตามบ้าน, ช่างฝีมือ และแรงงาน ส่วนทาสที่อยู่ในอาณานิคมทางใต้ทำงานอยู่ในภาคการเกษตรเป็นหลักเช่น การปลูกข้าว, การปลูกฝ้าย และการปลูกต้นยาสูบ ในทำนองเดียวกัน, พ่อค้าจำนวนมากยังเป็นผู้บุกเบิกการค้าและการพาณิชย์มาสู่อาณานิคมทั้งสิบสาม โดยการนำสินค้าที่เหลือจากความต้องการภายในส่งกลับสู่อังกฤษ ซึ่งส่งผลประโยชน์ต่อแผ่นดินแม่อย่างมากจากวัตถุดิบที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้

สงครามฝรั่งเศส-อเมริกันอินเดียนปะทุขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2297 ถึง พ.ศ. 2306 เป็นสงครามย่อยบนพื้นทวีปอเมริกาเหนือในสงครามเจ็ดปี ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งของฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในอเมริกาเหนือ ผลที่ตามมาคืออังกฤษได้เข้าครอบครองนิวฟรานส์โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม อีโรกัวส์ (Iroquois Confederation) และหลังสงครามสิ้นสุดลง คู่กรณีในสงครามทั้งหมดได้ทำการลงนามในสนธิสัญญาแห่งปารีส พ.ศ. 2306 ซึ่งระบุไว้ว่าฝรั่งเศสต้องยกอำนาจอธิปไตยทั้งหมดเหนือหลุยเซียนาบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีให้แก่อังกฤษหรือที่รู้จักกันในภายหลังว่า อินเดียนรีเซิร์ฟ (Indian Reserve) อันเป็นการยืนยันว่าอังกฤษคือเจ้าอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดบนทวีปอเมริกาเหนือ

การปฏิวัติอเมริกา

มรณกรรมของนายพลวอร์เรน ณ สมรภูมิบันเคอร์ฮิลล์ วาดโดยจอห์น ทรัมบูล, พ.ศ. 2318

อาณานิคมทั้งสิบสามต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการปกครองตนเองมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อยและยังต้องพบกับข้อจำกัดทางการค้าที่มากขึ้นไปอีก เนื่องจากนโยบายของแผ่นดินแม่ที่มีความเข้มงวดและเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น ผลลัพธ์อื่นที่ตามมาก็คือก่อให้เกิดความยากลำบากในการค้าและไปจำกัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาณานิคม มันยังทำให้พ่อค้าชาวอังกฤษกอบโกยผลประโยชน์ไปได้มากมาย ซ้ำร้ายชาวอาณานิคมยังต้องมามีส่วนร่วมในการชดใช้หนี้สินที่อังกฤษกระทำไว้ในช่วงสงครามเจ็ดปี ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2308 - พ.ศ. 2318 จากประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ไม่มีการควบคุมและไม่มีผู้แทนพระองค์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ตามมาด้วยการสังหารหมู่ที่บอสตัน เมื่อกองทัพหลวงอังกฤษหรือที่รู้จักกันในนาม พลทหารอังกฤษชุดแดง (British Redcoats) เปิดฉากยิงพลเรือนในปี พ.ศ. 2313 ส่งผลให้เกิดการก่อกบฏของชาวอาณานิคมที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงไปทั่วทุกหนแห่ง ก่อนหน้านี้รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านพระราชบัญญัติด้านภาษีออกมาหลายฉบับตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติตราไปรษณียากร พ.ศ. 2308 ตามมาด้วย พระราชบัญญัติชา พ.ศ. 2316 เป็นต้น ซึ่งพระราชบัญญัติชานี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวอาณานิคม ตามมาด้วยการประท้วงโดยการปลอมตัวเป็นชาวอินเดียแดงแล้วลอบขึ้นไปบนเรือขนใบชาของอังกฤษ จากนั้นทำการโยนหีบใบชาทั้งหมดทิ้งลงไปในอ่าวบอสตัน ประชาชนทั่วไปรู้จักเหตุการณ์นี้กันในนามกรณีชาที่บอสตัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2317 รัฐสภาอังกฤษจึงตอบโต้การท้าทายดังกล่าวด้วยการผ่านพระราชบัญญัติที่ชาวอาณานิคมเรียกกันในนาม พระราชบัญญัติสุดทน (Intolerable Acts) ในที่สุดลำดับเหตุการณ์ที่กล่าวมาในข้างต้นก็ได้กระตุ้นให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวอาณานิคมกับกองทัพหลวงอังกฤษที่สมรภูมเลกซิงตันและคอนคอร์ดในปี พ.ศ. 2318 และจากการปะทะกันในครั้งนี้เองที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชัยชนะของอังกฤษที่สมรภูมิบันเคอร์ฮิลล์ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันก็ยิ่งปลุกปั่นความตึงเครียดให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันนั้นเองที่เป้าหมายในการประกาศเอกราชจากอังกฤษก็ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนส่วนมากของสังคมที่รู้จักกันในนาม กลุ่มผู้รักชาติ (Patriots) แต่ก็มีกลุ่มคนส่วนน้อยที่ยังต้องการให้อังกฤษปกครองพวกเขาต่อไปโดยรู้จักกันในนาม กลุ่มผู้ภักดี (Loyalists) อย่างไรก็ดีเมื่อมีการจัดการประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีปครั้งที่สองขึ้นที่ฟิลาเดลเฟียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2318 การประชุมดำเนินไปภายใต้การควบคุมของเหล่าผู้มีชื่อเสียงเช่น เบนจามิน แฟรงคลิน, ทอมัส เจฟเฟอร์สัน, จอห์น แฮนคอค, แซมูเอล อดัมส์ และ จอห์น อดัมส์ ทั้งหมดได้หารือและตัดสินใจในที่สุดว่าจะทำการเรียกร้องเอกราชอย่างเต็มขั้นจากประเทศแม่ จึงก่อให้เกิดคำประกาศอิสรภาพสหรัฐในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319 และลงนามในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2319 ตามมาด้วยการส่งไปยังอังกฤษและขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัย การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเด็ดเดี่ยวและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น

ความพ่ายแพ้ของลอร์ดคอร์นวอลลิส วาดโดยจอห์น ทรัมบูล แสดงให้เห็นถึงการยอมแพ้ของกองทัพราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ต่อกองทัพราชอาณาจักรฝรั่งเศส (ซ้าย) และกองทัพสหรัฐ (ขวา) นับเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติอเมริกัน

ในช่วงต้นของสงครามกองทัพแห่งสหราชอาณาจักรต้องถอยร่นไปยังฮาลิแฟก โนวาสโกเชีย ระหว่างการบุกที่บอสตันโดยพลทหารของฝ่ายอาณานิคม พ.ศ. 2319 อย่างไรก็ตามในการบุกนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์กองทัพของอาณานิคมก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้นับหลายร้อยครั้งเฉกเช่นเดียวกับการบุกที่ฟิลาเดลเฟีย ทั้งในสมรภูมิคิปส์เบย์ สมรภูมิลองไอแลนด์ สมรภูมิไวต์เพลน สมรภูมิแบรนดีไวน์ และที่สมรภูมิเยอรมันทาวน์ ในขณะที่กองทัพแห่งภาคพื้นทวีปซึ่งนำโดยจอร์จ วอชิงตัน พ่ายแพ้ให้แก่สหราชอาณาจักรที่สมรภูมิฮาเลมไฮต์ส, สมรภูมิพรินส์ตัน และที่สมรภูมิเทรนตัน นอกจากนี้การเข้ายึดครองนครนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียของกองทัพสหราชอาณาจักรยังพิสูจน์ในขั้นต้นได้ถึงชัยชนะของอังกฤษที่มีต่อเหล่าผู้ก่อการกบฏ ก่อนในท้ายที่สุดพวกเขาจะอพยพออกไปจากเมืองทั้งสองในปี พ.ศ. 2320 และในปี พ.ศ. 2321 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าอังกฤษจะประสบชัยชนะจากการโอบล้อมป้อมติคอนเดโกราใน พ.ศ. 2320 แต่ยุทธการซาราโตกาของฝ่ายอังกฤษกลับต้องพบกับความพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพแห่งภาคพื้นทวีปภายใต้การนำของโฮราติโอ เกตส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปจากสมรภูมิซาราโตกา ต่อมาสงครามก็ดุดเดือดขึ้นจากการเข้ามาแทรกแทรงของราชอาณาจักรฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2321 ในช่วงของการโอบล้อมที่สะวันนาห์ พ.ศ. 2322 ที่กองทัพผสมระหว่างสหรัฐกับราชอาณาจักรฝรั่งเศสได้ประสบความล้มเหลวในความพยายามกอบกู้เมืองสะวันนาห์กลับมาเป็นของฝ่ายตนอีกครั้งภายหลังถูกฝ่ายอังกฤษเข้ายึดเมื่อปีก่อนหน้า ในสมรภูมิการสู้รบในภาคใต้ กองทหารอาสาสมัครของฝ่ายอาณานิคมกุมชัยชนะเหนือพื้นที่อาณานิคมทางใต้เป็นส่วนมาก จนกระทั่งการโอบล้อมที่ชาร์ลส์ตันได้เกิดขึ้นและฝ่ายอังกฤษก็เข้ายึดเมืองได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2323 ส่วนในสมรภูมิแคมเดินและสมรภูมิอาคารศาลที่กิลฟอร์ดฝ่ายอังกฤษก็กลับมามีชัยชนะอย่างเด็ดขาดด้วยกลยุทธ์ที่เฉียบแหลม ซึ่งค่าใช้จ่ายภายในกองทัพอังกฤษจะเพิ่มสูงขึ้นตามว่าวันเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป อีกทั้งฝ่ายอังกฤษเองก็ยิ่งอ่อนแอลงทุกขณะอันมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บล้มตายของพลทหารจำนวนมากและการคลาดแคลนกำลังพล จุดเปลี่ยนสถาการณ์ของสงครามการปฏิวัติอเมริกันมาถึงพร้อมกับการปะทุขึ้นของสมรภูมิคิงส์เมาต์เทนในปี พ.ศ. 2323 และสมรภูมิคาวเพนส์ในปี พ.ศ. 2324 เมื่อกองทัพฝ่ายอาณานิคมภายใต้การบัญชาการของนายพลแดเนียล มอร์แกน มีชัยชนะเหนือกองพลทหารม้าภายใต้การบัญชาการของบานาสเตอร์ ทาร์ลตัน พลทหารลำดับที่หนึ่งแห่งกองทหารม้าราชองครักษ์ และด้วยข้อจำกัดในการรบอันเนื่องมาจากยุทธวิธีเลห์กลของฝ่ายอาณานิคมทำให้ยุทธศาสตร์ในระยะยาวของผู้บัญชาการรบฝ่ายอังกฤษเช่น โทมัส เกจ, เซอร์วิลเลียม ฮาวว์, เฮนรี คลินตัน, จอห์น เบอร์กิยง และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือลอร์ด ชาร์ลส์ คอร์นวอลลิส ประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองทัพฝ่ายอาณานิคมและกองทัพฝรั่งเศส จุดจบของสงครามมาถึงในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2324 เมื่อชาร์ลส์ โอฮารา ผู้ใต้บังคับบัญชาของลอร์ดคอร์นวอลลิส ยอมแพ้และมอบดาบประจำแหน่งให้แก่เบนจามิน ลิงคอร์น ผู้ใต้บังคับบัญชาของจอร์จ วอชิงตัน ณ การโอบล้อมที่ยอร์คทาวน์

พ.ศ. 2326 - 2350

จอร์จ แฮมมอนด์ อุปทูตสหราชอาณาจักรประจำสหรัฐคนแรก

การค้าขายระหว่างสองประเทศกลับมาดำเนินตามปกติภายหลังสงครามยุติลง สหราชอาณาจักรอนุญาตให้มีการส่งออกไปยังสหรัฐทุกรูปแบบ แต่ห้ามไม่ให้สหรัฐส่งออกอาหารบางประเภทไปยังอาณานิคมอีนดีสตะวันตกของตน การส่งออกของสหราชอาณาจักรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงระดับ 3.7 ล้านปอนด์ฯ ในขณะที่นำเข้าจากสหรัฐมีมูลค่าเพียง 750,000 ปอนด์ฯ ความไม่สมดุลทางการค้านี้เองที่ทำให้สหรัฐขาดแคลนทองคำในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2328 ประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (plenipotentiary minister; ปัจจุบันเป็น เอกอัครราชทูต; ambassador) ประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ พระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต้อนรับเขาเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. 2334 สหราชอาณาจักรส่งอุปทูตคนแรกนามว่า จอร์จ แฮมมอนด์ ไปประจำสหรัฐ เมื่อสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2336 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรหยุดชะงักจนเกือบจะทำสงครามต่อกัน ความตึงเครียดดังกล่าวยุติลงด้วยสนธิสัญญาเจย์ในปีถัดมา อันก่อให้เกิดทศวรรษแห่งการค้าที่รุ่งเรืองและสงบสุขระหว่างสองชาติ[10] นักประวัติศาสตร์มาร์แชล สเมลเซอร์ โต้แย้งว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเลื่อนสงครามกับสหราชอาณาจักรออกไปเสียมากกว่า หรืออย่างน้อยก็เลื่อนสงครามออกไปจนกระทั่งสหรัฐแข็งแกร่งพอที่จะได้รับชัยชนะในสงคราม[11] นักประวัติศาสตร์ แบรดฟอร์ด เพิร์ชคินส์ กลับโต้แย้งแนวคิดของสเมลเซอร์ ว่าแท้จริงแล้วสนธิสัญญาเจย์เป็นจุดเริ่มต้นของ สายสัมพันธ์พิเศษ ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ในทรรศนะของเพิร์ชคิน สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นตัวช่วยนำพาช่วงเวลาแห่งความสงบสุขระหว่างสองรัฐเป็นเวลารวมสิบปี ซึ่งเข้าได้กล่าวสรุปไว้ว่า "ช่วงหนึ่งทศวรรษดังกล่าวนั้นอาจได้รับการขนานนามว่า การกระชับมิตรครั้งที่หนึ่ง ก็ว่าได้"

เป็นเวลาสิบกว่าปีที่พื้นที่แนวหน้าสงบสุข การเล็งเห็นคุณค่าร่วมกันของพาณิชยกรรมระหว่างสองประเทศ การยุติความขัดแย้งในการยึดเรือลำต่างๆ และการผลักดันขุมอำนาจที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม[12]

ตั้งแต่สนธิสัญญาเจย์มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2337 สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ทลายความตึกเครียดซึ่งเพิร์ชคินส์สรุปไว้ว่า: "ตลอดช่วงทศวรรษแห่งสงครามและความสงบสุขของโลก รัฐบาลชุดถัดๆ มาของรัฐจากสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกสามารถที่จะนำมาและดำรงไว้ซึ่งมิตรภาพระหว่างกัน อันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่จริงใจต่อกัน"[13] นักประวัติศาสตร์ โจเซฟ เอลลิส มองว่าสนธิสัญญาอีกด้านหนึ่งให้ประโยชน์เอื้อแก่ฝ่ายสหราชอาณาจักร ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของนักประวัติศาสตร์ส่วนมากที่ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า:

สนธิสัญญาเจย์เป็นการต่อรองอันชาญฉลาดของสหรัฐ สนธิสัญญาเดิมพันกับอังกฤษ ชาติมหาอำนาจยุโรปผู้มีอิทธิพลที่สุดในโลกในอนาคตข้างหน้า แทนที่จะเป็นฝรั่งเศส ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงคำทำนาย สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวให้การยอมรับถึงอธิปไตยเต็มขั้นของเศรษฐกิจสหรัฐในการค้ากับสหราชอาณาจักร เป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของลัทธิมอนโร (พ.ศ. 2366) สนธิสัญญายังช่วยให้สหรัฐพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในให้เทียบเท่าสหราชอาณาจักร อันนำมาซึ่งเกราะกำบังที่จะช่วยปกป้องสหรัฐจากภาวะการณ์ที่ไม่แน่นอนของโลกตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงสงครามกับสหราชอาณาจักรไปจนกระทั่งสหรัฐมีความสามารถทางเศรษฐกิจและการเมืองมากพอที่จะต่อสู้อย่างไม่เสียเปรียบ[14]

สหรัฐประกาศแสดงตนว่าเป็นกลางในสงครามรหะว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส (พ.ศ. 2336 - 2358) และสร้างผลกำไรมากมายจากการขายเสบียงอาหารและท่อนซุงให้แก่ทั้งสองฝ่าย ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ต่อต้านสนธิสัญญาเจย์บางส่วน เนื่องจากความกังวลของเขาที่ว่าสนธิสัญญาอาจทำให้ฝ่ายต่อต้านสาธารณรัฐนิยมซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของเขาจะแข็งแกร่งขึ้น แต่เมื่อเจฟเฟอร์สันเข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีฯ ในปี พ.ศ. 2344 เขาก็ไม่ได้ล้มเลิกสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว เขายังให้เอกอัครราชทูตวิสามัญฯ หัวสหพันธรัฐนิยม รูฟัส คิง ดำรงตำแหน่งเดิมในกรุงลอนดอนต่อไป เพื่อเจรจาต่อร้องในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการชำระเงินสดและการปักปันเขตแดน ซึ่งการเจรจาประสบผลสำเร็จด้วยดีในภายหลัง ต่อมามิตรภาพระหว่างสองชาติก็ดำเนินมาสู่ความตึงเครียดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2348 ก่อนนำไปสู่สงคราม พ.ศ. 2355 ในท้ายที่สุด เจฟเฟอร์สันปฏิเสธที่จะรื้อฟื้นสนธิสัญญาเจย์ในสนธิสัญญามอนโร-พิงค์นีย์ พ.ศ. 2349 ทั้งที่เจรจาและได้รับความเห็นสอบจากคณะทูตสหรัฐ ณ กรุงลอนดอน เจฟเฟอร์สันกลับเลือกที่จะไม่ส่งร่างสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาสูง (วุฒิสภาสหรัฐ)

การค้าทาสระหว่างประเทศถูกปราบปรามภายหลังที่ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ผ่านร่างพระราชบัญญัติเลิกการค้าทาสในปี พ.ศ. 2350 และสหรัฐก็ผ่านร่างพระราชบัญญัติลักษณะเดียวกันในปีเดียวกันนั้นเอง

สงครามปี พ.ศ. 2355

ดูเพิ่มเติมที่: สงครามปี พ.ศ. 2355
ภาพวาดในจินตภาพของศิลปินแสดงให้เห็นถึงการทิ้งระเบิด ณ สมรภูมิแห่งบัลติมอร์ ในปี พ.ศ 2355 อันเป็นแรงบันดาลใจให้ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ได้ประพันธ์เนื้อร้องของ เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์ อันเป็นเพลงชาติแห่งสหรัฐ

สหรัฐได้ทำการคว่ำบาตรทางการค้าตามพระราชบัญญัติการคว่ำบาตรทางการค้า พ.ศ. 2350 ซึ่งเป็นการตอบโต้สหราชอาณาจักรที่ปิดล้อมฝรั่งเศสทางทะเล อันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหล่าพ่อค้าผู้เป็นกลาง และมีผลให้เกิดความชะงักงันในการค้าระหว่างสหรัฐและฝรั่งเศสตลอดช่วงของสงครามนโปเลียน ราชนาวีอังกฤษยังได้ทำการเขาตรวจจับเรือทุกลำของสหรัฐและยัดเยียดข้อหาให้แก่ลูกเรือว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในการหนีทหารของกองทัพแห่งสหราชอาณาจักร[15]

สงครามปี พ.ศ. 2355 ถูกริเริ่มโดยสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีเจมส์ แมดิสัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อปกป้องสิทธิทางการค้าของสหรัฐและเสรีภาพทางทะเลของประเทศที่วางตัวเป็นกลาง อีกกระแสสนับสนุนหนึ่งมาจากชาวอเมริกันผู้โกรธแค้นกองทัพแห่งสหราชอาณาจักรที่ให้การช่วยเหลือชนอเมริกันพื้นเมือง ต่อสู้ปกป้องที่ดินของตนจากนักบุกเบิกชาวอเมริกัน รวมไปถึงความกระตือรือร้นของสหรัฐในการขยายดินแดนทางทิศตะวันตกและทิศเหนือที่สะท้อนให้เห็นถึงคตินิยมความเชื่อในเทพลิขิต[16]

ภายใต้แผนการรุกรานอเมริกาเหนือของอังกฤษ สหรัฐได้ทำการทำลายเมืองยอร์ก เมืองหลวงของอาณานิคมและตามมาด้วยชัยชนะในเดือนเมษายน พ.ศ. 2356 ณ สมรภูมิยอร์ก ส่งผลให้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2357 สหรัฐเผชิญการตอบโต้จากอังกฤษในเหตุการณ์เผาทำลายแห่งวอชิงตัน อาคารกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐถูกรื้อทำลาย ส่วนทำเนียบขาวก็ถูกเผาจนวอด ต่อมาฝ่ายอังกฤษก็ได้ตอกย้ำชัยชนะของตนในสมรภูมิบลาเดนส์เบิร์ก บางส่วนของการรุกคืบเข้าไปยังอเมริกาเหนือของอังกฤษโดยกองกำลังสหรัฐ เช่น สมรภูมิชาโต-กวัย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2356 และในเดือนถัดมา ณ สมรถภูมิไครส์เลอร์ฟาร์ม ต่างถูกขับไล่และผลักดันออกจากดินแดนโดยกองกำลังอังกฤษ อย่างไรก็ตามกองกำลังของสหรัฐเองก็ได้รับชัยชนะในหลายๆ สมรภูมิ เช่นที่สมรภูมิเทมส์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ 2356 และในสมรภูมิลองวูดส์ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2357 ต่อมานาวิกโยธินสหรัฐฯ เข้ายึดครองบริเวณเกรตเลกส์ได้โดยสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะราชนาวีอังกฤษ ณ สมรภูมิทะเลสาบอีรี เดือนกันยายน พ.ศ. 2356 และในสมรภูมิปลาตต์สบูร์ฟ ในเดือนเดียวกัน ฝ่ายอังกฤษจึงจำเป็นต้องถอยร่น ณ สมรภูมิบัลติมอร์ ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2356 และรวมถึงในอีกสามวันถัดมา

ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างกันจนนำไปสู่สนธิสัญญาเกนต์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามด้วยการรื้อฟื้นสถานะ รัฐแห่งสภาวะก่อนสงคราม (ละติน: status quo ante bellum) ซึ่งทำให้อาณาเขตของทั้งสองฝ่ายไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด ผู้แทนเจรจาฝ่ายสหรัฐ อัลเบิร์ต แกลลาติน ได้แถลงยอมรับว่า

ภายใต้พฤติการณ์อันไร้ซึ่งความสิริโสภาแห่งสากลโลก อเมริกาในสภาวะสงครามมิสามารถบีบบังคับบริเตนใหญ่ให้จำนนด้วยยุทธ์นาวีใดๆ ระหว่างการพิพาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิสามารถบีบบังคับให้เกิดการตกลงข้อกำหนดใดก็ตามอันไร้ซึ่งความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และวาระแห่งสันติภาพอันจะอำนวยประโยชน์ให้มากที่สุดเห็นจะหลีกไม่พ้น "รัฐแห่งสภาวะก่อนสงคราม"

ด้านสหราชอาณาจักรยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการ อิมเพรสเมนต์ (Impressment: พระราชบัญญัติที่สามารถนำบุรุษคนใดก็ตามเข้าร่วมราชนาวีโดยการบีบบังคับและโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ถูกใช้โดยราชนาวีอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19) ส่วนสหรัฐเองก็เลิกล้มข้อโต้แย้งดังกล่าวเพื่อรักษาสันติภาพ[17]

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อถกเถียงในพระราชบัญญัติอิมเพรสเมนต์ดังกล่าวได้รับข้อยุติอย่างกว้างขวางไม่นานหลังจากมีการประกาศสงคราม เมื่อรัฐบาลสหรัฐโดยร่างพระราชบัญญัติอิมเพรสเมนต์ พ.ศ. 2355 บังคับให้พลเมืองอเมริกันต้องพำนักอยู่ภายในสหรัฐโดยต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี, ยับยั้งการให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีกองทัพและการวิจารณ์รัฐบาลโดยฝ่ายอังกฤษ ต่อมาปัญหานี้ได้รับข้อยุติเมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยการลงนามของประธานาธิบดีเจมส์ แมดิสัน[18][19][20]

สหราชอาณาจักรยินยอมที่จะปล่อยตัวเชลยและทาสที่สามารถจับกุมมาได้เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อตกลงสันติภาพ หากแต่สหรัฐต้องยอมจ่ายค่าเชลยทาสเหล่านี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 350,000 ปอนด์สเตอร์ลิงในภายหลัง ในขณะที่แผนการจัดตั้งพื้นที่กันชนโดยใช้กลุ่มชนอเมริกันพื้นเมืองในเขตโอไฮโอและมิชิแกนล้มเหลวไม่เป็นท่าเนื่องจากเกิดความขัดแย้งในกลุ่มชนอเมริกันพื้นเมืองเอง ส่วนสหรัฐเพิกเฉยที่จะรับประกันมาตราที่สิบในบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่อชนอเมริกันพื้นเมือง [21]

ก่อนที่คำประกาศยุติสงครามจะถูกส่งไปถึงผู้บังคับบัญชาในสนามรบ กองกำลังสหรัฐภายใต้การนำของนายพลแอนดรูว์ แจ็กสัน ได้ทำการผลักดันกองกำลังอังกฤษ ณ สมรภูมินิวออร์ลีนส์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2358 ไม่นานหลังจากนั้นกองกำลังสหรัฐก็พ่ายแพ้ ณ ป้อมโบว์เยอร์ โดยกองกำลังอังกฤษภายใต้การนำของจอห์น แลมพาร์ต แต่ในท้ายที่สุดแล้วสงครามแห่งปี พ.ศ. 2355 ก็ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งความสงบสุขระหว่างทั้งสองชาติ ผู้ซึ่งในอีกเกือบศตวรรษต่อมาได้กลายเป็นพันธมิตรสำคัญของกันและกัน

นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "ต่างฝ่ายต่างโหยหาซึ่งสงครามแห่งปี พ.ศ. 2355, หากแต่ในระยะเวลาอันสั้นแล้วสงครามนั้นไร้ซึ่งความจำเป็นอย่างน่าอนาถใจ"[22]

ความขัดแย้งช่วง พ.ศ. 2358 - 2403

เคาน์ตีออริกอนและเขตโคลัมเบีย ทอดยาวจากเส้นรุ้งที่ 42 องศาเหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 54 องศา 40 ลิปดาเหนือ บริเวณที่ถูกเน้นสีคือบริเวณที่มีความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายมากที่สุด

ลัทธิมอนโรอันเป็นคำประกาศของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโรแห่งสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2366 เพื่อตอบสนองต่อข้อแนะนำที่ให้สหรัฐแถลงการณ์ร่วมกับฝ่ายสหราชอาณาจักร ในการแสดงเจตจำนงของสหรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติยุโรปชาติใดก็ตามที่ลุกล้ำเข้ามายึดครองดินแดนในซีกโลกตะวันตก แต่กระนั้นสหรัฐเองก็ยังได้รับประโยชน์จากแนวโน้มที่พบบ่อยในนโยบายของสหราชอาณาจักรและการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวของราชนาวีอังกฤษ

ภายหลังจากเหตุการณ์ความตื่นตระหนกแห่ง พ.ศ. 2380 หลายๆ รัฐในสหรัฐต่างพากันผิดนัดชำระพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือครองโดยเหล่านักลงทุนชาวอังกฤษ บรรดานายธนาคารที่ลอนดอนจึงหลีกเลี่ยงการถือครองพันธบัตรรัฐบาลนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เปลี่ยนไปลงทุนอย่างมากในพันธบัตรระบบขนส่งทางรางของสหรัฐแทน[23] หลายครั้งที่นายพลชาวอเมริกันนามว่า วินฟีลด์ สกอตต์ ได้แสดงให้เห็นถึงการทูตอันเฉียบแหลมด้วยการลดทอนการใช้อารมณ์ส่วนตัวและการประณีประนอม[24] สกอตต์เข้าแก้ปัญหากรณีแคโรไลน์ในปี พ.ศ. 2380 กลุ่มกบฏชาวบริติชนอร์ทอเมริกัน (British North American) หลบหนีมายังนิวยอร์ก และใช้เรืออเมริกันลำเล็กที่ชื่อว่า แคโรไลน์ เป็นพาหนะในการลักลอบส่งเสบียงให้กับกลุ่มกบฏที่เหลืออยู่ในอเมริกาเหนือของอังกฤษหลังจากล้มเหลวในการก่อจลาจล ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2380 ทางการอังกฤษจึงนำทหารบุกเข้าเผาทำลายเรือ ส่งผลให้เกิดการประท้วงทางการทูต ตามมาด้วย ความเกรงกลัวอังกฤษ หรือ แองโกลโฟเบีย (Anglophobia) และเหตุการณ์อื่นๆ ตามมา

ความตึงเครียดจากความคลุมเครือของเส้นเขตแดนระหว่างรัฐเมน-รัฐนิวบรันสวิกส่งผลให้เกิดสงครามอารูสโตก (Aroostook War) ระหว่างคนตัดไม้ในปี พ.ศ. 2382 ซึ่งสงครามดังกล่าวไม่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการใช้อาวุธปืนต่อสู้กัน เพียงแต่พยายามรักษาศักดิ์ศรีของประเทศชาติของตนและขยายอาณาบริเวณในการตัดไม้เพิ่มเติม ทั้งสองฝ่ายต่างถือครองแผนที่เก่าฉบับหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายมีอรรถคดีที่ดีกว่าฝ่ายตน ดังนั้นการเจรจาประณีประนอมจึงเกิดขึ้นโดยง่ายในสนธิสัญญาเวบสเตอร์-แอชเบอร์ตัน พ.ศ. 2385 (Webster-Ashburton Treaty) ที่ยุติข้อขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนลง[25] ในปี พ.ศ. 2402 สงครามหมู (Pig War) อันปราศจากการนองเลือด ยุติข้อถกเถียงและคำถามถึงเส้นเขตแดนระหว่างอเมริกาเหนือของอังกฤษและสหรัฐบริเวณเกาะซานฮวนและเกาะกัลฟ์ แต่ภายหลังมีการลงนามสนธิสัญญาเคลย์ตัน-บุลเวอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ได้รับการพัฒนาไปสู่ขั้นสำคัญอีกขั้นหนึ่ง

ระหว่างปี พ.ศ. 2387 - 2391 ทั้งสองชาติมีความขัดแย้งกันในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณออริกอน โดยส่วนมากแล้วพื้นที่ดังกล่าวไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ทำให้วิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่นี้จบลงอย่างง่ายดายด้วยการแบ่งอาณาบริเวณดังกล่าวให้แก่สองฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน อังกฤษได้พื้นที่ที่เป็นรัฐบริติชโคลัมเบียในปัจจุบันไป ส่วนสหรัฐได้พื้นที่ที่เป็นรัฐวอชิงตัน, รัฐไอดาโฮ และรัฐออริกอนในปัจจุบันไป จากนั้นสหรัฐได้หันความสนใจไปยังเม็กซิโกที่ได้แสดงท่าทีข่มขู่จะก่อสงครามจากการที่สหรัฐเข้ายึดครองดินแดนเท็กซัส อังกฤษพยายามบรรเทาท่าทีที่เกรี้ยวกราดของชาวเม็กซิกันลงแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เมื่อสงครามได้ปะทุขึ้น อังกฤษได้วางท่าทีที่เป็นกลาง ผลของสงครามทำให้สหรัฐได้ดินแดนแคลิฟอร์เนียมา ที่ซึ่งอังกฤษแสดงท่าทีที่สนใจเพียงเล็กน้อย[26]

สงครามกลางเมืองอเมริกัน

ภาพวาดเรือ ซีเอสเอส อลาบามา ที่ฝ่ายสหพันธรัฐอเมริกาใช้โจมตีเรือสินค้า

ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน เป้าหมายหลักของฝ่ายสหพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) ก็คือการยอมรับสถานภาพความเป็นรัฐจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ซึ่งคาดการณ์ว่าจะนำประเทศทั้งสองไปสู่สงครามกับสหรัฐและจะทำให้ฝ่ายสหพันธ์ฯ ได้รับเอกราช แต่ด้วยการทูตอัญชาญฉลาดของฝ่ายสหรัฐ (ฝ่ายเหนือ) ทำให้ไม่มีประเทศใดให้การยอมรับสถานภาพความเป็นรัฐดังกล่าว สงครามระหว่างสหรัฐกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจึงได้รับการหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม มีความรู้สึกจากหลายฝ่ายภายในสหราชอาณาจักรว่าควรสนับสนุนฝ่ายใต้เพื่อทำให้สหรัฐอ่อนแอลง[27] ในช่วงต้นของสงครามสหราชอาณาจักรได้ออกถ้อยแถลงประกาศความเป็นกลาง (proclamation of neutrality) ในขณะที่สมาพันธรัฐอเมริกากลับถือเอาด้วยตัวเองว่าสหราชอาณาจักรจะต้องเข้าร่วมสงครามอย่างแน่นอน เพราะต้องปกป้องแหล่งเพาะปลูกฝ้ายอันเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร ด้วยแนวคิดนี้เองเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายสมาพันธ์ฯ เกิดความมั่นใจมากเพียงพอที่จะเข้าสู้รบในสงครามกับฝ่ายสหรัฐ แต่ถึงกระนั้นฝ่ายใต้กลับไม่เคยปรึกษาหารือกับชาวยุโรปเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยังส่งนักการทูตไปยังยุโรปล่าช้ากว่าฝ่ายเหนืออีกด้วย และเมื่อก่อนสงครามจะเริ่มในเดือนเมษายน พ.ศ. 2404 พลเมืองฝ่ายใต้ (ซึ่งดำเนินการโดยปราศจากอำนาจรัฐ) ได้ทำการหยุดส่งวัตถุดิบฝ้ายไปยังยุโรป โดยหวังที่จะให้เกิด การต่อรองทางการทูตด้วยฝ้าย (cotton diplomacy) แต่แผนการดังกล่าวกลับประสบความล้มเหลวเนื่องจากสหราชอาณาจักรทำการกักตุนวัตถุดิบฝ้ายไว้ในคลังสินค้าจนเต็ม ทำให้ฝ้ายที่กักตุนไว้นั้นมีราคาถีบตัวสูงขึ้น จนกระทั่งเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบฝ้ายอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2405[28]

กรณีเทรนต์ (Trent Affair) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2404 เกือบลุกลามกลายเป็นสงคราม เมื่อเรือรบของนาวิกโยธินสหรัฐหยุดเรือพลเรือนของสหราชอาณาจักร อาร์เอ็มเอส เทรนต์ และนำตัวนักการทูตฝ่ายสมาพันธ์ฯ สองคนนามว่า เจมส์ เมอร์เรย์ เมสัน และจอห์น สไลเดิลล์ ออกจากเรือลำดังกล่าว ด้านสหราชอาณาจักรเตรียมเข้าสู่สงครามและต้องการให้ปล่อยตัวนักการทูตดังกล่าวในทันที ประธานาธิบดีอับราฮัม ลองคอร์น จึงได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวตามคำเรียกร้อง เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยุติลงอย่างเงียบๆ[29]

สหราชอาณาจักรตระหนักดีว่าการยอมรับเอกราชของสหพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) จะเป็นการจุดชนวนสงครามกับสหรัฐ (ฝ่ายเหนือ) ที่ซึ่งเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรพึ่งพาการค้ากับสหรัฐอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเข้าเมล็ดพันธ์พืชราคาถูก ถ้าหากสงครามปะทุขึ้น แน่นอนว่าฝ่ายสหรัฐจะหยุดการส่งออกเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ทันที อีกทั้งสหรัฐยังจะเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบกับเรือสินค้าของสหราชอาณาจักรอีกด้วย

ทั้งที่มีการแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดและการประท้วงอย่างหนักหน่วงจากสหรัฐ ทางการกรุงลอนดอนอนุญาตให้เรือ ซีเอสเอส อลาบามา ที่สหราชอาณาจักรต่อขึ้น ออกจากท่าเรือไปโจมตีเรือสินค้าภายใต้ธงนาวีของสหพันธรัฐอเมริกา สงครามสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2408 ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดต่อกรณีดังกล่าวในปี พ.ศ. 2414 ด้วยการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นทองคำมูลค่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[30]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2406 ประธานาธิบดีลิงคอล์นได้ประกาศเลิกทาส ซึ่งได้รับเสียงสนุนอย่างมากจากฝ่ายเสรีนิยมในสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่าการเลิกทาสดังกล่าวจะจุดชนวนสงครามระหว่างเชื้อชาติและทำให้ฝ่ายสมาพันธ์ฯ เสียเปรียบในสงคราม เช่น การสูญเสียการควบคุมท่าเรือและแม่น้ำสายหลักหลายสาย โอกาสที่ฝ่ายใต้จะชนะสงครามจึงน้อยลงทุกขณะ[31]

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1860 ในขณะที่ชาวอเมริกาไม่พอใจกับท่าที่ของสหราชอาณาจักรและแคนาดาระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกัน ภายหลังสงครามกลางเมือง ชาวไอริชกลุ่มเฟเนียนร่วมกันสมคบคิดแผนการและพยายามรุกรานแคนาดา แต่หน่วยงานรัฐของสหรัฐกลับไม่ให้ความสนใจ[32] ซึ่งแม้แผนการของกลุ่มเฟเนียนจะล้มเหลวไป แต่นักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชที่มีอิทธิพลภายในพรรคเดโมแครตมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องเอกราชให้ไอร์แลนด์มากขึ้นและสร้างวาทกรรมต่อต้านสหราชอาณาจักรที่เรียกว่า ม้วนหางราชสีห์ (twisting the lion's tail) ซึ่งใช้เป็นนโยบายหาเสียงหลักในการชักจูงคะแนนเลือกตั้งจากชาวไอริช[33]

สหราชอาณาจักรยังคงยึดมั่นในหลักการค้าเสรีเช่นเดียวกับประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐและเยอรมนี ซึ่งทั้งสองประเทศ (เช่นเดียวกับแคนาดา) ต่างพากันขึ้นอัตราภาษีศุลกากร อุตสาหกรรมหนักของสหรัฐเติบโตเร็วกว่าสหราชอาณาจักร จนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษที่ 1890 จึงสามารถเอาชนะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของสหราชอาณาจักรและสินค้าชนิดอื่นๆ ที่ถูกส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลกได้[34] อย่างไรก็ตาม กรุงลอนดอนยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก แม้การลงทุนส่วนมากในลอนดอนจะมุ่งไปสู่การลงทุนในระบบรางรถไฟของสหรัฐ ส่วนกิจการเดินเรือสมุทรและการประกันภัยของสหรัฐยังคงล้าหลังสหราชอาณาจักรอยู่มาก[35]

"การรุกราน" ของสินค้าอเมริกันในตลาดสหราชอาณาจักรนี้ส่งผลให้เกิดการตอบโต้[36]ด้วยการขึ้นอัตราภาษีศุลกากร ที่ซึ่งแม้จะถูกขึ้นด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่อัตราภาษีใหม่ก็ไม่ถูกบังคับใช้จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 1930 ดังนั้นนักธุรกิจสหราชอาณาจักรจึงจำใจที่จะต้องสูญเสียตลาดไป ไม่เช่นนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกอจการของตนให้ทันสมัยขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าได้รับผลกระทับจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสหรัฐ สหรัฐยังได้ยึดตลาดรองเท้าสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรในอังกฤษอีกด้วย ด้วยเหตุนี้บริษัทสัญชาติสหราชอาณาจักรจึงตระหนักได้ว่าพวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันนี้ได้ พวกเขาจะต้องปรับเปลี่ยนหลักการทำงาน การใช้แรงงาน และความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรม นอกจากนี้พวกเขายังต้องปรับวิธีคิดในการทำให้ตลาดรองเท้ามีอุปสงค์ด้านการแต่งกายเพื่อความสวยงาม (แฟชั่น) มากกว่าอุปสงค์ด้านการใช้งาน[37]

ข้อพิพาทเส้นเขตแดนเวเนซูเอลาและอะแลสกา

วิกฤตการณ์เวเนซูเอลา พ.ศ. 2438 ปะทุขึ้นเมื่อสหราชอาณาจักรและเวเนซูเอลามีข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเวเนซูเอลาและบริติชกายอานา ซึ่งเป็นอาณานิคมใต้อาณัติของจักรวรรดิอังกฤษ โดยประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์และเลขาธิการแห่งรัฐ (รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ) ริชาร์ด โอลนีย์ เรียกร้องให้มีอนุญาโตตุลาการระหว่างกัน[38] ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 จึงได้มีคำชี้ขาดยกดินแดนผืนใหญ่ให้แก่บริติชกายอานา[39] ผลของคำชี้ขาดดังกล่าวทำให้สหรัฐใช้โอกาสนี้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติในแถบละตินอเมริกา พร้อมกับยืนหยัดเคียงข้างชาติละตินอเมริกาต่อต้านการรุกล้ำของจักรวรรดิอังกฤษ แต้ในขณะเดียวกันก็ยังใช้ท่าทีที่จริงใจและเป็นมิตรในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหราชอาณาจักร[40][41]

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการระงับข้อพิพาทด้วยสนธิสัญญาโอลนีย์-เปาน์เซโฟต พ.ศ. 2440 (The Olney-Pauncefote Treaty of 1897) ซึ่งถูกร่างขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับใช้ระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2440 โดยกำหนดให้มีการอนุญาโตตุลาการสำหรับเหตุพิพาทครั้งใหญ่ๆ และแม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนและชนชั้นนำ ร่างสนธิสัญญานี้กลับถูกตีตกไปโดยวุฒิสภาสหรัฐที่รู้สึกอิจฉาบุริมสิทธิ์ของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว ทำให้ร่างสนธิสัญญาไม่เคยถูกบังคับใช้จริง[42]

ภาพเขียนการกระชับมิตรครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2441 แสดงให้เห็นการจับมือกันระหว่างลุงแซมและจอห์น บูล ในขณะที่โคลัมเบียและบริเทนเนียนั่งจับมือคู่กันอยู่ทางด้านหลัง

แม้กระนั้นเองก็ยังมีการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทอื่นๆ เช่น ข้อพิพาทเส้นเขตแดนระหว่างอะแลสกาและแคนาดา ซึ่งผลของการอนุญาโตตุลาการทำให้ฝ่ายแคนาดารู้สึกถูกทรยศ เดิมทีเมื่อสหรัฐซื้ออะแลสกามากจากรัสเซียในปี พ.ศ. 2410 มีการลากเส้นเขตแดนระหว่างอะแลสกาและแคนาดาอย่างคร่าวๆ ทำให้เส้นเขตแดนค่อนข้างที่จะคลุมเครือ ข้อพิพาทปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2438 เมื่อมีกระแสการตื่นทองในยูคอน ทำให้บรรดานักขุดทองจำเป็นต้องผ่านอะแลสกาก่อนจึงจะเข้าสู่ยูคอนได้ โดยทางแคนาดาเองก็ต้องการให้มีการลากเส้นเขตแดนใหม่เพื่อจะได้มีทางออกสู่ทะเลและท่าเรือเป็นของตัวเอง แม้สะหรัฐอเมริกาจะยื่นข้อเสนอให้แคนาดาเช่าท่าเรือของตนในระยะยาวแล้วก็ตาม แต่แคนาดาก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไป ข้อพิพาทนี้จึงดำเนินเข้าสู้ขั้นตอนการอนุญาโตตุลาการและได้รับการคลี่คลายในปี พ.ศ. 2446 ผลของอนุญาโตตุลาการยกประโยชน์ให้ฝ่ายสหรัฐ เนื่องด้วยผู้พิพากษาจากสหราชอาณาจักรพร้อมด้วยผู้พิพากษาจากสหรัฐ 3 คน มีคำชี้ขาดแย้งกับผู้พิพากษาจากแคนาดา 2 คน ในคณะอนุญาโตตุลาการ ก่อให้เกิดทัศนิคติที่ขมขื่นจากสาธารณชนแคนาดา ที่รู้สึกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติถูกสังเวยให้กับสุนทรียภาพระหว่างสหราชอาณาจักร-สหรัฐด้วยน้ำมือของลอนดอน[43]

การกระชับมิตรครั้งใหญ่

การกระชับมิตรครั้งใหญ่คือวาทกรรมจำเพาะที่ใช้อธิบายการโน้มเข้ามาบรรจบกันระหว่างเป้าประสงค์ทางการเมืองและสังคมของสหรัฐและสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. 2438 จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2457 แม้ว่าประชากรไอริชที่เป็นคาทอลิกในสหรัฐจะมีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของไอร์แลนด์ และบางครั้งก่อให้เกิดวาทศาสตร์ต่อต้านสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งก็ตาม[44]

สัญญาณที่เด่นชัดที่สุดของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสองชาติในช่วงของการกระชับมิตรครั้งใหญ่คือท่าทีของสหราชอาณาจักรระหว่างสงครามสเปน-อเมริกัน เมื่อการโจมตีจากสงครามเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2442 ในช่วงแรกสหราชอาณาจักรมีนโยบายสนับสนุนจักรวรรดิสเปนและการปกครองของสเปนเหนือคิวบา เนื่องจากตระหนักได้ว่าหากสหรัฐสามารถยึดครองและผนวกคิวบาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนได้สำเร็จ อาจเป็นภัยคุกคามและอันตรายต่อผลประโยชน์ทางการค้าและการพาณิชย์ของอังกฤษ รวมถึงการปกครองของตนเหนือหมู่เกาะอินเดียตะวันตก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหรัฐให้หลักประกันอย่างแท้จริงว่าจะมอบเอกราชแก่คิวบา ซึ่งต่อมาเกิดขึ้นจริงในปี พ.ศ. 2445 ภายใต้ข้อกำหนดที่ถูกบัญญัติไว้ในคำแปรญัตติเพลตต์ (Platt Amendment) ฝ่ายอังกฤษจึงล้มเลิกนโยบายดังกล่าวและแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายสหรัฐในที่สุด ต่างจากมหาอำนาจในยุโรปส่วนมากที่เข้ากับฝ่ายสเปน สหรัฐจึงสนับสนุนสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามบัวร์เป็นการตอบแทน แม้ว่ามีชาวอเมริกันจำนวนมากเข้าข้างฝ่ายบัวร์ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรูก็ตาม[45]

ชัยชนะในสงครามสเปน-อเมริกันนับเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดินิยมอเมริกัน (American imperialism) ทั้งนี้ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ยังได้สร้างกองเรือ เกรทไวต์ฟลีท (Great White Fleet) เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐ โดยเป็นกองเรือน่านน้ำทะเลลึก (blue-water navy) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากราชนาวีอังกฤษในด้านขนาดของกองเรือและแสนยานุภาพ[46][47]

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

พลทหารชาวอเมริกันขณะรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5

ช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐมีนโยบายอย่างเคร่งครัดที่จะวางตัวเป็นกลาง และมีความเต็มใจที่จะส่งออกสินค้าทุกชนิดไปยังประเทศได้ก็ตามที่สนใจจะสั่งซื้อ ในขณะที่ฝ่ายเยอรมนีไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ทุกชนิดจากการสกัดกั้นของสหราชอาณาจักร จึงทำให้การค้าของสหรัฐอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก่อนหน้าสงคราม การค้าในตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐมีสหราชอาณาจกัรเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ แต่เมื่อสงครามปะทุขึ้น สหราชอาณาจักรกู้สินเชื่อจำนวนมากจากธนาคารในนิวยอร์ก และเมื่อสภาพคล่องเกิดการฝืดเคืองในช่วงปลายปี พ.ศ. 2459 ส่งผลให้สหราชอาณาจักรประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน[48]

ในขณะที่สงครามดำเนินไป ก็ค่อยๆ เกิดทัศนคติที่ต่อต้านเยอรมนีขึ้นอย่างช้าๆ ในหมู่สาธารณชนชาวอเมริกัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดระลอกของเหตุการณ์ความโหดเหี้ยมในเบลเยียม พ.ศ. 2457 และเหตุการณ์จมเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย ในปี พ.ศ. 2458 ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันและชาวไอริชผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกเรียกร้องให้สหรัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม แต่ยิ่งสงครามดำเนินไป กลุ่มสนับสนุนสงครามกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 เยอรมนีทบทวนยุทธศาสตร์การทำสงครามเรือดำน้ำเป็นแบบไม่จำกัดขอบเขต และตระหนักดีว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะนำไปสู่การทำสงครามกับสหรัฐ เยอรมนีจึงแก้เงื่อนไขดังกล่าวด้วยการเชื้อเชิญเม็กซิโกให้เข้าร่วมสงครามกับเยอรมนีในการต่อสู้กับสหรัฐผ่านโทรเลขซิมแมร์มันน์ และโทรเลขฉบับดังกล่าวนับเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สหรัฐประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 เดิมทีชาวอเมริกันวางแผนที่จะจัดส่งเงิน อาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ไปสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป แต่ไม่นานนักก็เป็นที่ประจักษ์ว่าสหรัฐจำเป็นจะต้องส่งพลทหารนับล้านนายไปสู้รบในแนวรบด้านตะวันตก[49]

สหรัฐส่งทหารไปยังยุโรปจำนวนสองล้านนาย ภายใต้การบัญชาการของนายพลจอห์น เจ. เพิร์ชชิง และเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อสงครามใกล้สิ้นสุดลง[50] ทั้งนี้เกิดความคลางแคลงใจถึงความสามารถของกองทหารเดินเท้าจากสหรัฐในหมู่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ซึ่งในปี พ.ศ. 2460 ขาดการฝึกฝนและประสบการณ์อย่างหนัก เมื่อสงครามย่างเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2461 พลหารอเมริกันก็ถูกส่งมายังยุโรปในอัตรา 10,000 คนต่อวัน ส่วนเยอรมันกลับมีจำนวนทหารลดลงเนื่องจากขาดแคลนกำลังพลทดแทน

แม้ว่าประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ต้องการจะใช้สงครามครั้งนี้เป็นบทเรียนเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ แต่การเจรจาตกลงหลักการสิบสี่ข้อซึ่งอยู่ในสนธิสัญญาแวร์ซาย แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการทูตของเขาที่ถูกลดความสำคัญลงจากชัยชนะในสงคราม เส้นเขตแดนของชาติในยุโรปถูกลากขึ้นใหม่บนพื้นฐานของการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ยกเว้นเยอรมนีภายใต้สาธารณรัฐไวมาร์ที่เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นใหม่ นอกจากนี้ การชดเชยทางการเงินยังตกเป็นภาระของชาวเยอรมัน อันเป็นผลจากการที่ฝรั่งเศสต้องการมอบสันติภาพซึ่งแฝงไปด้วยบทลงโทษให้แก่เยอรมนี แม้จะมีเสียงประท้วงมาจากอังกฤษและสหรัฐก็ตาม[51] ทั้งยังถือเป็นการแก้แค้นสำหรับความขัดแย้งกับเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อีกด้วย

ช่วงระหว่างสงครามโลก

นโยายการต่างประเทศที่สำคัญของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 คือ "การบ่มเพาะความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสหรัฐ" ส่งผลให้สหราชอาณาจักรตัดสินใจไม่ทบทวนความร่วมมือทางการทหารกับญี่ปุ่นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากในขณะนั้นญี่ปุ่นพัฒนาประเทศจนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิก[52]

สหรัฐให้การสนับสนุนการประชุมนาวิกวอชิงตัน (Washington Naval Conference) ในปี พ.ศ. 2465 จนบรรลุผลสำเร็จ ช่วยให้การแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางนาวิกโยธินระหว่างประเทศยุติลงไปนับทศวรรษ โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความเป็นผู้นำโลกด้านนาวิกโยธินของราชนาวีอังกฤษ และปรากฏเป็นรอยด่างพล้อยในสนธิสัญญานาวิกวอชิงตัน พ.ศ. 2465 ที่ซึ่งสหรัฐและสหราชอาณาจักรตกลงร่วมกันที่จะจำกัดจำนวนเรือรบตามสัดส่วนระวางน้ำหนักเป็นตัน อย่างไรก็ดีเมื่อถึง พ.ศ. 2475 สนธิสัญญาแห่งปี พ.ศ. 2465 ก็ไม่ได้รับการทบทวนใหม่ นำไปสู่การแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางนาวิกโยธินระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอีกครั้ง[53]

ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1920 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างปกติฉันท์มิตร ในปี พ.ศ. 2466 ลอนดอนเจรจากับกระทรวงการคลังสหรัฐเรื่องภาระหนี้สินจากสงครามจำนวน 978 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงที่ติดค้างตนอยู่ โดยสัญญาว่าจะทำการชำระอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนเงิน 34 ล้านปอนด์ฯ ในระยะเวลา 10 ปี จากนั้นจะชำระเป็นจำนวนเงิน 40 ล้านปอนด์ฯ ในระยะเวลา 52 ปี ซึ่งแนวคิดนี้มีจุดประสงค์ให้สหรัฐปล่อยสินเชื่อแก่เยอรมนี เพื่อให้เยอรมนีนำเงินจำนวนดังกล่าวมาจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่สหราชอาณาจักร จากนั้นสหราชอาณาจักรจึงจะนำเงินก่อนนี้มาชำระหนี้สินที่ติดค้างกับสหรัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 การชำระหนี้สินจากเยอรมนีทั้งหมดยุติลง และในปี พ.ศ. 2475 สหราชอาณาจักรจึงระงับการชำระหนี้สินให้แก่สหรัฐ จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2488 หนี้สินก้อนดังกล่าวจึงได้รับการชระคืนจนหมดสิ้น[54]

บน: กลุ่มผู้ว่างงานรวมตัวกันอยู่ด้านหน้าสำนักจัดหางานในกรุงลอนดอน พ.ศ. 2473
ล่าง: ฝูงชนรวมตัวกันนอกธนาคารแห่งสหรัฐ (Bank of United States) ในนครนิวยอร์กหลังทราบข่าวการล้มละลายในปี พ.ศ. 2474

สหรัฐปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ แม้กระนั้นเองการไม่เข้าร่วมนี้ส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อนโยบายทางการทูตของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามสหรัฐเลือกที่จะเข้าร่วมในส่วนภาระหน้าที่ภาคปฏิบัติของสันนิบาตชาติ อันนำความพึงพอใจมาให้แก่สหราชอาณาจักร แต่ก็นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงอันละเอียดอ่อนในหมู่สาธารณชนเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐต่อสันนิบาตชาติ เช่น การประชุมนานาชาติครั้งสำคัญอย่างการประชุมนาวิกวอชิงตัน พ.ศ. 2465 ที่อยู่นอกเหนือการดูแลของสันนิบาตชาติ ทั้งนี้สหรัฐเลือกที่จะไม่ส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการในสันนิบาตชาติ แต่กลับส่ง "ผู้สังเกตการณ์" อย่างไม่เป็นทางการเข้าร่วมในที่ประชุมแทน

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สหรัฐให้ความสนใจเพียงแต่ปัญหาภายในและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนนำไปสู่นโยบายการโดดเดี่ยวตนเอง ต่อมาเมื่อสภาคองเกรสผ่านร่างพระราชบัญญัติเพิ่มอัตราพิกัดศุลกากรในปี พ.ศ. 2473 สหราชอาณาจักรจึงตอบโต้ด้วยการเพิ่มอัตราพิกัดศุลกากรของตนกับชาติคู่ค้า เช่น สหรัฐ แต่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษด้านศุลกากรกับประเทศภายในเครือจักรภพอังกฤษ สหรัฐแสดงความไม่พอใจด้วยการเรีกยร้องให้สหราชอาณาจักรยกเลิกสิทธิประโยชน์เหล่านี้ในปี พ.ศ. 2489 แลกกับหนี้สินก้อนโต[55]

มูลค่าการค้าขายทั่วโลกดิ่งลงถึงสองในสาม ในขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐหดตัวจาก 848 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2472 เป็น 288 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2475 หดตัวลงเกือบสองในสามหรือร้อยละ 66[56]

เมื่อสหราชอาณาจักรจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเศรษฐกิจ ณ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2476 (London Economic Conference) เพื่อช่วยแก้สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์กลับทำให้การประชุมต้องสะดุดลงด้วยการปฏิเสธที่จะเข้าร่วม[57]

ความตึงเครียดในประเด็น ปัญหาไอริช (Irish question) ผ่อนคลายลงด้วยเอกราชของไอร์แลนด์ในการสถาปนาเสรีรัฐไอร์แลนด์ พ.ศ. 2465 ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชได้บรรลุเป้าประสงค์ของตน ผู้นำของชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชกลุ่มดังกล่าว โจเซฟ พี. เคนเนดี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำสหราชอาณาจักร (ณ ราชสำนักเซนต์เจมส์) และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมชั้นสูงของลอนดอน เคนเนดีสนับสนุนนโยบายที่โอนอ่อนต่อเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน และเมื่อสงครามปะทุขึ้นอีกครั้ง เขาได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่าโอกาสการอยู่รอดของสหราชอาณาจักรนั้นช่างมัวหม่น ต่อมาเมื่อวินสตัน เชอร์ชิล ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ. 2483 เคนเนดีก็สูญเสียอิทธิพลของตนทั้งในลอนดอนและวอชิงตัน ดี.ซี.[58][59]

สงครามโลกครั้งที่สอง

ดูเพิ่มเติมที่: โครงการแมนฮัตตัน
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

สงครามเย็น

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ช่วงหลังสงครามเย็น

การเผาทำลายบ่อน้ำมันในคูเวตในช่วงของสงครามอ่าวเปอร์เซีย

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อสหรัฐได้กลายมาเป็นชาติอภิมหาอำนาจเพียงชาติเดียวในโลก ภัยคุกคามใหม่ก็ได้ปะทุขึ้นและเผชิญหน้ากับสหรัฐรวมไปถึงชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในนาโต โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 สหรัฐเริ่มเตรียมพร้อมกองกำลังของตน จนต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 สหรัฐจึงเปิดฉากใช้กำลังทางทหารร่วมกับกองทัพอังกฤษในการเข้าปลดปล่อยคูเวตจากการยึดครองของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นการทำสงครามร่วมกันของสองกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

ในปี พ.ศ. 2540 พรรคแรงงานแห่งอังกฤษได้รับเสียงข้างมากในสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ร่วมกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ร่วมกันแสดงถึง แนวทางที่สาม ในการอธิบายถึงลัทธิอุดมการณ์กลาง-ซ้ายของพวกเขา ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษได้แสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยการแสดงออกถึงความเศร้าโศกและความตกตะลึงต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งฮิลลารี คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐในขณะนั้นก็ได้เดินทางไปร่วมพิธีศพของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในวันที่ 6 กันยายนด้วย นอกจากนี้ตลอดช่วง พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542 ทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรยังได้ส่งกองทัพของตนร่วมในการรักษาสันติภาพระหว่างสงครามคอซอวอ

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายและสงครามอิรัก

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

การปล่อยตัวอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮี

ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลสกอตแลนด์ภายใต้การนำของอเล็กซ์ ซัลมอนด์ ประกาศว่าจะปล่อยตัวอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮี ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งอัล-เมกราฮีเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุก่อการร้ายที่คร่าชีวิตชาวอเมริกัน 169 คน และชาวสหราชอาณาจักร 40 คน ในเหตุการณ์ระเบิดสายการบินแพนแอม เที่ยวบินที่ 103 เหนือเมืองล็อกเกอร์บี สกอตแลนด์ ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2531 โดยอัล-เมกราฮีถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี พ.ศ. 2544 แต่ถูกปล่อยตัวหลังได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน ฝ่ายสหรัฐกล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่มีความปราณีต่อญาติผู้เสียชีวิตและไม่เห็นแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุระเบิดดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าว "ไม่เหมาะสมอย่างมาก"[60] อย่างไรก็ตาม หลุยส์ ซัสแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าวว่าแม้การที่สกอตแลนด์ตัดสินใจปล่อยตัวอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮีจะทำให้สหรัฐรู้สึกเสียใจอย่างมาก แต่ความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรจะยังคงดำเนินไปอย่างเต็มที่และเข้มแข็งเช่นเดิม[61] ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของกอร์ดอน บราวน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจดังกล่าว กอร์ดอน บราวน์กล่าวในการแถลงข่าวว่าไม่มี 'บทบาท' ใดๆ ในการตัดสินใจครั้งนี้[62] ต่อมาอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮี เสียชีวิตในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ด้วยวัย 60 ปี

การรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 เกิดการระเบิดและจมลงของแท่นขุดเจาะน้ำมัน ดีพวอเทอร์ฮอไรซัน ในอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้เกิดแรงเสียดทานในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ และยังก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านสหราอาณาจักรขึ้นในหมู่ประชาชนบางส่วน แม้ว่าแท่นขุดเจาะดำเนินการทั้งหมดและมีเจ้าของเป็นบริษัทอเมริกันที่ชื่อ ทรานส์โอเชียน แต่นักวิจารณ์ก็มักจะอ้างถึง บริติชปิโตรเลียม หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า บีพี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541[63][64] ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้นักการเมืองในสหราชอาณาจักรยังได้แสดงความวิตกกังวลถึงความรู้สึกต่อต้านสหราชอาณาจักรในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันอีกด้วย[65][66] โทนี่ เฮย์เวิร์ด ซีอีโอของบริษัทบริติชปิโปรเลียมจึงกลายเป็นบุคคลที่ถูกชาวอเมริกันเกลียดชังมากที่สุด[67] ในทางกลับกัน การตราหน้าบีพีว่าเป็นปีศาจในทางสาธารณะ, การทำให้ภาพพจน์ของบริษัทย่ำแย่ บวกกันกับคำแถลงการณ์ของประธานาธิบดีโอบามาเกี่ยวกับบริษัท ได้ก่อให้ความรู้สึกต่อต้านสหรัฐในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะคำกล่าวของวินซ์ เคเบิล, เลขาธิการด้านธุรกิจแห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ว่า "มันชัดเจนแล้วว่าบางวาทกรรมในสหรัฐนั้นมันสุดโต่งและไร้ประโยชน์"[68] เหตุผลทางด้านกองทุนเงินบำนาญ, การสูญเสียรายได้เข้าคลัง และผลกระทบอื่นๆ ได้ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร การพบปะกันของประธานาธิบดีบารัก โอบามาและนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางการทูตนี้ลง ประธานาธิบดีโอบามากล่าวไว้ว่า สายสัมพันธ์พิเศษ ยังคงพาดโยงสหราชอาณาจักรและสหรัฐเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ดีความรู้สึกต่อต้านสหรัฐและความรู้สึกต่อต้านสหราชอาณาจักรในหมู่ประชาชนของทั้งสองประเทศยังคงปรากฏให้เห็นและดำเนินต่อไป

สถานะปัจจุบัน

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ทรงต้อนรับประธานาธิบดี, บารัก โอบามา และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง, มิเชลล์ โอบามา ณ พระราชวังบัคคิงแฮม ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552ประธานาธิบดีบารัก โอบามา และนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน สนทนากันบริเวณสนามหญ้าทางทิศใต้ของทำเนียบขาว วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นโยบายฉบับปัจจุบันของทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่างถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐไว้ว่าเป็น "หุ้นส่วนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่สำคัญที่สุด"[3] ในโลก ขณะเดียวกันกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ, ฮิลลารี คลินตัน ก็ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์นี้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เช่นกันว่ายังคง "ยืนหยัดท้าทายต่อกาลเวลา"[69]

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552, กอร์ดอน บราวน์ เยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ ระหว่างการเยือนนั้น นายกอร์ดอนบราวน์ได้มอบด้ามเสียบปากกาแกะสลักจาก เรือเอชเอ็มเอส แกนเน็ต ซึ่งเป็นเรือที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้าทาสนอกชายฝั่งทวีปอเมริกา ทางด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้มอบกล่องของขวัญที่ภายในบรรจุดีวีดีจำนวน 25 แผ่น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประกอบด้วย สตาร์ วอร์ส และ อี.ที. เพื่อนรัก ซึ่งแผ่นภาพยนตร์เหล่านี้จะไม่สามารถเล่นกับเครื่องเล่นดีวีดีส่วนใหญ่ที่จำหน่ายนอกสหรัฐได้[70] ส่วนภรรยานายกอร์ดอน, นางซาราห์ บราวน์ ก็ได้มอบของขวัญแก่บุตรสาวทั้งสองของประธานาธิบดีนั้นก็คือ ซาชาและมาเลีย เป็นเสื้อผ้าจากร้านขายเครื่องนุ่งห่ม ท็อปช็อป ของอังกฤษ พร้อมกับหนังสือที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ในสหรัฐฯ ทางด้านนางมิเชลล์ โฮบามา ก็ได้มอบเฮลิคอปเตอร์ของเล่น มารีนวัน จำนวน 2 ลำแก่บุตรชายของนายกอร์ดอน บราวน์[71] และในการเยือนครั้งนี้นายกอร์ดอน บราวน์ ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐ ซึ่งน้อยครั้งนักที่ผู้นำรัฐบาลจากต่างชาติจะมีโอกาสพิเศษเช่นนี้

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552 นางมิเชลล์ โอบามาและบุตรสาวทั้งสองคนคือ ซาชา โอบามา และมาเลีย โอบามา ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 เป็นการส่วนตัว ในการเยือนครั้งนี้ บุตรสาวทั้งสองได้มีโอกาสเยี่ยมชมห้อง สเตทรูม ภายในพระราชวังบัคคิงแฮมถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสนทนากันเกี่ยวกับการทำสวน ชนบท และแฟชั่น ที่ต่างก็ชื่นชอบเช่นเดียวกัน[72] การเยือนในครั้งนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นเนื่องจากนางมิเชลล์สัมผัสพระหัตถ์และพระปฤษฏางค์ (หลัง) ของสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเปิดเผย ทำให้มีคนออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการมิบังควร ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทมิได้ทรงสนพระทัยในเรื่องดังกล่าว[73]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ผลสำรวจของมูลนิธิแกลอัพ ซึ่งสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,023 คนทางโทรศัพท์ พบว่า 36 เปอร์เซ็นต์มองสหราชอาณาจักรเป็น "มิตรสหายอันล้ำค่าที่สุดของประเทศ" ตามมาด้วยแคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล และเยอรมนี[74] นอกจากนี้ผลสำรวจยังบอกอีกด้วยว่ากว่า 89 เปอร์เซ็นต์ มองสหราชอาณาจักรว่าเป็นประเทศที่ชื่นชอบของชาวอเมริกัน รองจากแคนาดาที่มีคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับผลสำรวจของสถาบันวิจัยพิว ในปี พ.ศ. 2552 พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวอังกฤษนิยมชมชอบสหรัฐ[75]

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หนังสือพิมพ์กรอบเช้ารายวันของอังกฤษ เดอะเดลี่เทเลกราฟ ซึ่งอ้างอิงหลักฐานจากวิกิลีกส์ ได้รายงานว่าทางการสหรัฐได้รับข้อมูลที่มีความอ่อนไหวง่ายเกี่ยวกับคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์ของอังกฤษ (ซึ่งระบบขีปนาวุธนำวิธีทั้งหมดถูกผลิตและกักเก็บไว้ในสหรัฐ) ว่าอังกฤษได้ทำการจัดส่งอาวุธดังกล่าวให้แก่รัสเซียในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อกระตุ้นให้รัสเซียลงนามในสนธิสัญญานิวสตาร์ท โดยศาสตราจารย์มัลคอล์ม ชาลเมอร์สแห่งสำนักงานสถาบันเพื่อการกลาโหมและความมั่นคงศึกษาแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร (Royal United Services Institute for Defence and Security Studies) พิจาณาว่ากรณีดังกล่าวอาจสร้างความสั่นคลอนราชการลับของสหราชอาณาจักรได้ โดยการที่รัสเซียอาจจะสามารถล่วงรู้มาตรวัดและขนาดของยุทโธปกรณ์อังกฤษ[76]

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี บารัก โอบามา เขาได้กล่าวสุทรพจน์ในหลากหลายประเด็น ณ รัฐสภาอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ[77]

ข้าพเจ้ามาในวันนี้เพื่อที่จะมาเน้นย้ำถึงหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุด และแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยรู้จัก มันถูกกล่าวขานกันมานานแล้วว่าสหราชอาณาจักรและสหรัฐได้แบ่งปันสายสัมพันธ์พิเศษนี้ร่วมกัน

– บารัก โอบามา

ไม่กี่วันก่อนการลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ พ.ศ. 2557 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวต่อสาธารณชนเน้นย้ำส่วนได้เสียของสหรัฐในการเป็นหุ้นส่วนกับสหราชอาณาจักรที่ "เข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียว" ที่ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็น "หนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เราจะมี"[78]

ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ยังคงดำเนินสายสัมพันธ์พิเศษของทั้งสองประเทศไปตามปกติ ทางสหรัฐได้นำรูปสลักครึ่งตัวของวินสตัน เชอร์ชิล กลับไปประดับไว้ในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวตามเดิม นอกจากนี้ในช่วงที่เทเรซา เมย์ เยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ ยังได้เน้นย้ำถึงรกรากของครอบครัวทางฝ่ายแม่ที่มาจากสกอตแลนด์อีกด้วย[79][80]

ใกล้เคียง

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก-ความสนใจต่อสิ่งภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–สหรัฐ ความสามารถของบุคคล ความสัมพันธ์ไทย–พม่า ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น–ไทย ความสัมพันธ์จีน–ไทย ความสัมพันธ์ไทย–สหรัฐ ความสัมพันธ์ไทย–รัสเซีย ความสัมพันธ์เนโท–สวีเดน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–สหรัฐ http://www.ctv.ca/servlet/ArticleNews/story/CTVNew... http://esl.about.com/od/toeflieltscambridge/a/dif_... http://www.amazon.com/Theyll-Have-Follow-You-Trium... http://www.bbc.com/news/uk-scotland-scotland-polit... http://www.buzzle.com/articles/history-of-the-war-... http://www.cbsnews.com/stories/2009/03/31/eveningn... http://www.cunard.com/Destinations/default.asp?Sub... http://www.enquirerherald.com/366/story/874656.htm... http://www.foreigntradeexchange.com/countries/uk.h... http://www.foxnews.com/politics/first100days/2009/...