ปัญหาและข้อขัดแย้ง ของ ประชาธิปไตยเสรีนิยม

ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยตรง

เนื่องจากประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงเป็นระบบที่ไม่เอาใจใส่ความต้องการของประชาชนทั่วไปโดยตรงยกเว้นช่วงเลือกตั้งเพราะผู้แทนจำนวนน้อยเป็นผู้ตัดสินใจและออกนโยบายการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปกครองชีวิตประชาชนนักทฤษฎีอภิสิทธิชน (Elite theory) จึงอ้างว่า ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนรวมทั้งประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นเพียงแค่หน้าฉากของคณาธิปไตย[22]และนักทฤษฎีทางการเมืองทรงอิทธิพลก็ได้แสดงประชาธิปไตยเสรีนิยมว่าเป็นพหุธิปไตย (Polyarchy)[23]ซึ่งแปลว่า การปกครองโดยคนหลายคน เทียบกับ Oligarchy (แปลเป็นภาษาไทยว่า คณาธิปไตย) ซึ่งแปลว่า การปกครองโดยคนน้อยคนเพราะเหตุนี้และอื่น ๆ ผู้คัดค้านระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม จึงสนับสนุนระบอบการปกครองอื่น ๆ เช่น ประชาธิปไตยโดยตรง

ส่วนผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือแบบมีผู้แทนให้เหตุผล 3 อย่างเพื่อระบอบการปกครองเยี่ยงนี้

  1. ประโยชน์ของคนส่วนน้อยและเสรีภาพส่วนบุคคลต้องป้องกันจากเสียงของคนข้างมาก ดังที่ เจมส์ แมดิสัน ผู้มีชื่อว่าเป็นบิดาของรัฐธรรมนูญสหรัฐ (และประธานาธิบดีคนที่ 4) ได้กล่าวไว้ว่า "แหล่งความขัดแย้งที่สามัญและคงยืนที่สุดคือการกระจายทรัพย์สินที่หลากหลายและไม่เท่าเทียมกัน ผู้มีทรัพย์สินและผู้ไม่มี ย่อมมีความสนใจ/ผลประโยชน์ในสังคมที่ไม่เหมือนกันตลอดกาล" เพื่อป้องกันคนส่วนน้อย ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของที่ดิน ไม่ให้ถูกกดขี่ไม่ให้ความสำคัญโดยคนส่วนใหญ่ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือคนไม่มีที่ดิน จึงต้องมีข้อกำหนดซึ่งเรียกว่า republic (โดยหมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความเท่าเทียมกัน[24] / มีความรู้ / สามารถทำการอย่างหนึ่งได้อย่างเป็นอิสระ[25]) คือในมุมมองนี้ การปกครองแบบไม่จำกัดโดยคนส่วนมาก อาจนำไปสู่การกดขี่คนส่วนน้อย
  2. ผู้นำที่ได้รับเลือกอาจใส่ในปัญหาต่าง ๆ มากกว่า และเป็นผู้สามารถกว่าผู้ลงคะแนนเลือกตั้งโดยทั่วไป
  3. จะต้องใช้ความพยายามและเวลามาก ถ้าทุกคนจะต้องรวมรวมข้อมูล ปรึกษา และลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ โดยมาก

ส่วนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรงก็มีเหตุผลต่าง ๆ ที่โต้แย้ง โดยมีสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศตัวอย่างที่มีองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยโดยตรงที่ใช้งานได้จริง ๆ[26]

ปัจจุบันนี้ ประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมจำนวนมากมีองค์ประกอบของประชาธิปไตยโดยตรง เช่น การออกเสียงประชามติ (referendum), plebiscite, การริเริ่มออกกฎหมาย (initiative), การเลือกถอนตำแหน่ง (recall election), และรูปแบบต่าง ๆ ของ ประชาธิปไตยแบบอภิปราย (deliberative democracy)อนึ่ง รัฐจำนวนหนึ่งในสหรัฐก็มีการดำเนินการที่เป็นประชาธิปไตยโดยตรง ประเทศอุรุกวัยก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งและประเทศอีกหลายประเทศอื่น ๆ ก็มีการออกเสียงประชามติ แม้ในระดับที่น้อยกว่าสวิตเซอร์แลนด์

เป็นเผด็จการของคนมีทรัพย์สิน

พวกมาร์กซิสต์ พวกคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยม และนักอนาธิปไตยให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมภายใต้ทุนนิยมจะสัมพันธ์กับชนชั้นโดยโครงสร้าง และดังนั้น ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยหรือมีส่วนร่วมจากประชาชนได้จริง ๆ และควรเรียกว่าประชาธิปไตยของกระฎุมพี เพราะโดยที่สุดแล้ว นักการเมืองจะต่อสู้เพื่อสิทธิของชนชั้นกระฎุมพีเท่านั้น

ตามมาร์กซ การมีผู้แทนที่ดูแลผลประโยชน์ของตน จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลที่ชนแต่ละชั้นสามารถซื้อ (เช่น ให้สินบน การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อมวลชน การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ การบริจาคให้พรรคการเมืองและเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค)ดังนั้น ผลประโยชน์ของสาธารณชนในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม จึงถูกทุจริตอย่างเป็นระบบอาศัยความมั่งคั่งของชนชั้นซึ่งรวยพอที่จะได้การเป็นตัวแทนและเพราะเหตุนี้ ประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคภายใต้อุดมคติทุนนิยมจึงจะบิดเบือนและต่อต้านประชาธิปไตยเสมอ โดยดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของระบบการผลิต

ตามมาร์กซ ชนชั้นกระฎุมพีจะรวยยิ่ง ๆ ขึ้นตามความมุ่งมั่นเพื่อยึดเอามูลค่าส่วนเกินจากแรงงานสร้างสรรค์ของชนชั้นกรรมาชีพความมุ่งมั่นนี้จะผูกมัดชนชั้นกระฎุมพีให้รวบรวมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพิ่มสัดส่วนมูลค่าส่วนเกินที่ได้โดยเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ คือกดข้อตกลงและเงื่อนไขสำหรับลูกจ้างให้ใกล้กับระดับความยากจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้(ข้อบังคับนี้ก็จะแสดงอย่างบังเอิญให้เห็นข้อจำกัดอันชัดเจนของเสรีภาพของกระฎุมพี และแม้แต่ข้อจำกัดของชนชั้นกระฎุมพีเอง)

ดังนั้น ตามมาร์กซ การเลือกตั้งรัฐสภาเป็นเพียงแต่ความพยายามที่ไร้ความจริงใจและทำอย่างเป็นระบบ เพื่อหลอกลวงประชาชนด้วยการอนุญาตให้เลือกตั้งเป็นบางครั้งบางคราวเพื่อเพียงรับรองตัวแทนที่กำหนดล่วงหน้าก่อนของคนชนชั้นกระฎุมพี เพื่อทำการสนับสนุนผลประโยชน์ของตนเมื่อเลือกตั้งแล้ว รัฐสภาเช่นนี้ โดยเป็นอำนาจเผด็จการของคนชั้นกระฎุมพี ก็จะออกกฎหมายที่สนับสนุนผลประโยชน์ของผู้ที่เลือกตั้งตนจริง ๆ ซึ่งก็คือคนชั้นกระฎุมพี

วลาดีมีร์ เลนิน เคยให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมใช้เพียงเพื่อให้ภาพลวงตาว่ามีประชาธิปไตย ในขณะที่ดำรงอำนาจเผด็จการของชนชั้นกระฎุมพีโดยสรุปก็คือ การเลือกตั้งของประชาชนไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ว่า มีอำนาจการตัดสินใจว่าใครในชนชั้นปกครอง จะได้ทำการแบบไม่เป็นตัวแทนให้ประชาชนในรัฐสภา[27]

ค่าใช้จ่ายเพื่อหาเสียงในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนจะเป็นกลไกอำนวยประโยชน์ให้คนรวย โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐยาธิปไตย ที่บุคคลจำนวนน้อยมากมีอิทธิพลจริง ๆ ต่อนโยบายของรัฐในระบอบประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์โบราณ ตำแหน่งราชการบางอย่างจะตั้งประชาชนขึ้นโดยสุ่ม เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของเศรษฐยาธิปไตยอาริสโตเติลกล่าวถึงศาลในเอเธนส์ซึ่งเลือกตุลาการโดยสุ่ม ว่าเป็นประชาธิปไตย[28]ในขณะที่กล่าวถึงการเลือกตั้งว่าเป็นคณาธิปไตย[29]

นักสังคมนิยมบางคนยังโจมตีแม้กระทั่งประชาธิปไตยเสรีนิยมด้วยว่า เป็นละครตลกไม่จริงใจมุ่งหมายไม่ให้มวลชนเข้าใจว่า ความต้องการของตนจะไม่มีผลอะไรในกระบวนการทางการเมืองและเป็นการสมรู้ร่วมคิดเพื่อเร้ามวลชนให้วุ่นวายโดยเป็นแผนการทางการเมืองบางอย่างบางคนก็ยืนยันว่า กระบวนการทางการเมืองเช่นนี้ส่งเสริมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทำสัญญากับผู้สนับสนุนที่มั่งคั่ง โดยจะเสนอออกฎหมายอำนวยผลประโยชน์ถ้าตนได้รับเลือก เป็นการสืบสานการสมรู้ร่วมคิดเพื่อผูกขาดส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเช่นนี้ (Campaign finance reform) ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ถึงกระนั้น ศ. สาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกคนหนึ่งก็ได้อ้างในหนังสือของเขาว่า การใช้จ่ายเพื่อหาเสียงไม่สามารถประกันได้ว่าจะได้รับเลือกโดยเปรียบเทียบชัยชนะการเลือกตั้งของคู่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้สมัครแข่งกันเองอย่างซ้ำ ๆ เพื่อตำแหน่งเดียวกัน (ซึ่งมักจะเกิดในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ) ที่มีการใช้จ่ายระดับต่าง ๆ กันเขาสรุปว่า "ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายชนะ สามารถตัดการใช้จ่ายครึ่งหนึ่งแล้วจะเสียคะแนนเสียงไปเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกัน ผู้แพ้ ถ้าเพิ่มการใช้จ่ายเป็นทวีคูณ สามารถหวังคะแนนเสียงเพิ่มเข้าข้างตนเองได้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน"[30] แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า การตอบเช่นนี้ไม่ตรงประเด็นของนักสังคมนิยม คือ ประชาชนที่มีเงินน้อยหรือไม่มีเลย จะไม่มีทางได้ตำแหน่งทางการเมืองได้เลยซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้โดยเพียงข้อสังเกตว่า ไม่ว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มเป็นทวีคูณหรือลดลงครึ่งหนึ่ง ก็จะเปลี่ยนโอกาสชนะของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดย 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สื่อแสดงมุมจำกัด

ผู้วิจารณ์บทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมอ้างว่า การมีคนจำนวนน้อยเป็นเจ้าของสื่อ ก่อความบิดเบือนที่สำคัญในกระบวนการประชาธิปไตยในหนังสือ การผลิตความยินยอม - เศรษฐกิจทางการเมืองของสื่อมวลชน (Manufacturing Consent: The Political Economy of the Mass Media) โนม ชอมสกีและผู้ร่วมเขียนได้ให้เหตุผลตามแบบจำลองโฆษณาชวนเชื่อของตนว่า[31]สื่อของธุรกิจจะจำกัดมุมมองที่ต่าง ๆ กัน จึงมีผลเผยแพร่เพียงพิสัยมุมมองที่จำกัดของอภิสิทธิชนนี่เป็นผลโดยธรรมชาติของความเชื่อมต่อกันที่ใกล้ชิดระหว่างธุรกิจทรงอิทธิพลกับสื่อ และดังนั้น สื่อจะแสดงมุมมองที่จำกัดโดยเฉพาะของกลุ่มชนที่พอจ่ายสื่อได้[32]

ชอมสกีกับผู้ร่วมเขียนยังได้ชี้ด้วยว่า ผู้บุกเบิกสื่อแรก ๆ ที่ทรงอิทธิพลยังมีมุมมองค้านประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน คือต่อต้านไม่ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนออกนโยบายของรัฐ[33]นักข่าวนักวิจารณ์ทางการเมืองอเมริกันผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง (Walter Lippmann) ได้กล่าวในหนังสือ (The Phantom Public) ในปี 2468 ว่าอภิสิทธิชนหาวิธีเพื่อ ขังสาธารณชนไว้เพื่อผู้มีอำนาจจะได้ "เป็นอิสระจากฝูงสัตว์ที่กำลังกระทืบโรงและส่งเสียงร้องอย่างงวยงง"[34]ในขณะที่ "บิดา" ของการประชาสัมพันธ์/การโฆษณาชวนเชื่อ (Edward Bernays) ได้สืบหาวิธีเพื่อ "อบรมฝึกใจของสาธารณชนเท่ากับที่กองทหารอบรมฝึกกายทหาร"[35]

ส่วนฝ่ายป้องกันประชาธิปไตยเสรีนิยมก็โต้ตอบให้เหตุผลว่า เสรีภาพในการพูดที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ทำให้องค์กรทั้งเพื่อผลกำไรและไม่แสวงผลกำไรสามารถอภิปรายประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ได้และการรายงานข่าวของสื่อในประชาธิปไตยก็เพียงแค่สะท้อนความนิยมของสาธารณชน ไม่ใช่เพราะถูกตรวจข่าวโดยเฉพาะในรูปแบบใหม่ ๆ ของสื่อเช่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่มากเพื่อจะเข้าถึงผู้ฟังจำนวนมาก ถ้ามีความสนใจต่อไอเดียที่เสนอ

ผู้ลงคะแนนเสียงมาน้อย

จำนวนผู้มาออกคะแนนเสียงน้อย ไม่ว่าเพราะเหตุหมดความเชื่อ เฉยเมย หรือพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ อาจมองได้ว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะถ้าไม่สมส่วนกับกลุ่มประชากรนั้น ๆแม้ว่า ระดับการมาออกคะแนนเสียงจะต่างกันมากระหว่างประเทศประชาธิปไตยในปัจจุบัน และระหว่างการเลือกตั้งหลายแบบหลายระดับภายในประเทศเดียวกันแต่เมื่อถึงบางจุด ก็อาจจะก่อคำถามว่านี่เป็นเจตจำนงของประชาชน หรือเป็นตัวบ่งชี้ปัญหาบางอย่างในสังคม หรือในกรณีสุด ๆ เป็นตัวบ่งชี้ความชอบธรรมของการเลือกตั้ง

การรณรงค์ให้ออกมาใช้เสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลหรือองค์กรอื่น ๆ อาจเพิ่มการออกมาใช้เสียง แต่ควรจะแยกแยะระหว่างการรณรงค์ทั่วไปที่เพิ่มการออกเสียง และการรณรงค์ของพรรคเพื่อสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง พรรค หรือเหตุใดเหตุหนึ่งโดยเฉพาะหลายประเทศบังคับให้ออกเสียงลงคะแนน โดยมีการปรับลงโทษไม่เหมือนกัน ผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า วิธีนี้เพิ่มความชอบธรรม ดังนั้น จึงเพิ่มการยอมรับการเลือกตั้งของประชาชนประกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองของบุคคลที่ได้รับผล และลดค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ให้ออกเสียงส่วนเหตุผลคัดค้านรวมทั้งการจำกัดเสรีภาพ ค่าใช้จ่ายในการบังคับใช้กฎหมาย การเพิ่มจำนวนบัตรเสียหรือการไม่ลงคะแนน และการลงคะแนนมั่ว[36]

ส่วนทางเลือกรวมทั้งการใช้บัตรเลือกตั้งสำหรับผู้ไม่สามารถไป ณ สถานที่เลือกตั้งมากขึ้น หรือวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้ลงคะแนนเสียงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์

อำนวยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา

เพราะเหตุทางประวัติศาสตร์ รัฐหลายรัฐไม่เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์คืออาจจะมีการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจนทางชาติพันธุ์ ทางภาษา ทางศาสนา หรือทางวัฒนธรรมโดยบางกลุ่มอาจจะเป็นปฏิปักษ์กันอย่างชัดเจนดังนั้น ประชาธิปไตย ซึ่งโดยทฤษฎีเปิดให้มวลชลมีส่วนร่วมตัดสินใจ ก็เปิดให้ใช้กระบวนการทางการเมืองเพื่อจัดการศัตรู

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเกิดประชาธิปไตยแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในรัฐกลุ่มโซเวียต จึงตามด้วยสงครามในยูโกสลาเวียเดิม ในเขตคอเคซัส และในมอลโดวาอย่างไรก็ดี บางคนก็เชื่อว่า การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการเพิ่มจำนวนรัฐประชาธิปไตย ก็ติดตามมาด้วยการลดจำนวนสงครามเบ็ดเสร็จ สงครามระหว่างรัฐ สงครามชาติพันธุ์ และสงครามปฏิวัติอย่างน่าทึ่ง โดยลดจำนวนผู้อพยพลี้ภัยและผู้ที่ถูกขับออกจากบ้านเรือนของตน (นับทั่วโลก ไม่จำกัดเพียงประเทศในกลุ่มโซเวียตเดิม)แต่แนวโน้มเช่นนี้ก็สามารถอธิบายได้ว่า มาจากการยุติสงครามเย็น หรือความหมดสภาพของสงครามเช่นนั้นเอง ซึ่งเป็นสงครามที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตได้เป็นผู้ให้เชื้อโดยมาก[37]

ดูข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มที่หัวข้อเสียงข้างมากนิยม และทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย

ในหนังสือ โลกติดไฟ - การส่งออกประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีได้ให้กำเนิดการเกลียดชังทางชาติพันธุ์และการไร้เสถียรภาพของโลกได้อย่างไร (World on Fire: How Exporting Free Market Democracy Breeds Ethnic Hatred and Global Instability) ศ. นิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยลได้ยกประเด็นคือ

เมื่อพยายามสร้างประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีในที่ ๆ คนส่วนน้อยมีอำนาจครอบครองทางเศรษฐกิจ ผลที่ได้แทบไม่เคยพลาดก็คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ซึ่งมักออกเป็น 3 รูปแบบ ประการแรกก็คือ ปฏิกิริยาต่อต้านเศรษฐกิจ/ตลาด โดยเล็งที่ความมั่งคั่งของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจครอบครองทางเศรษฐกิจ ประการที่สองก็คือ ปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตย โดยกลุ่มอำนาจที่เข้าข้างคนส่วนน้อย ประการที่สามก็คือความรุนแรง บางครั้งในระดับล้างเผ่าพันธุ์ ต่อคนส่วนน้อยเอง[38]

อำนวยระเบียบจุกจิกของราชการและกฎหมาย

ข้อวิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยที่คงยืนจากพวกอิสรนิยมและกษัตริย์นิยมก็คือ ระบบสนับสนุนให้ผู้แทนที่ได้รับเลือกเปลี่ยน/ออกกฎหมายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะที่ทำอย่างน้ำท่วมป่าซึ่งมองว่า เป็นอันตรายหลายอย่าง

กฎหมายใหม่อาจจำกัดสิ่งที่เคยเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลกฎหมายที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วทำให้คนพร้อมเชื่อฟังกฎหมายทั่วไปทำตามกฎหมายได้ยากซึ่งอาจเชื้อเชิญให้หน่วยบังคับกฎหมายต่าง ๆ ใช้อำนาจผิด ๆ การเพิ่มความซับซ้อนกฎหมายเรื่อย ๆ ตามที่อ้าง ขวางกฎธรรมชาติที่เรียบง่ายและเป็นจริงตลอดกาล แม้จะไม่มีมติในบรรดาผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ว่า กฎธรรมชาติที่ว่านี้คืออะไร แต่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก็ชี้ถึงระเบียบซับซ้อนจุกจิกของราชการและของกฎหมายที่เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการ เช่นที่พบในรัฐคอมมิวนิสต์ก่อน ๆ ระบบราชการของประชาธิปไตยเสรีนิยมบ่อยครั้งถูกตำหนิว่า ชักช้าและซับซ้อนเมื่อต้องตัดสินใจ

สนใจแค่เรื่องใกล้ ๆ

ตามนิยามปัจจุบันแล้ว ระบอบจะอำนวยให้เปลี่ยนรัฐบาลได้อย่างสม่ำเสมอซึ่งสร้างข้อวิจารณ์ว่า รัฐบาลสนใจแต่เรื่องใกล้ ๆ เพราะภายใน 4-5 ปีก็จะเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหาวิธีชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งสนับสนุนให้ออกนโยบายที่ให้ประโยชน์ในระยะสั้น ๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (หรือแก่นักการเมืองที่ทำประโยชน์ให้ตัวเอง) ก่อนจะเลือกตั้งครั้งต่อไป แทนนโยบายที่ไม่นิยมแต่มีประโยชน์ในระยะยาวแต่ข้อวิจารณ์นี้สมมุติว่า เป็นไปได้ที่จะพยากรณ์อนาคตระยะยาวของสังคม ซึ่งนักปรัชญาบางท่าน (เช่น Karl Popper) วิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดแบบประวัติศาสตร์นิยม ซึ่งไม่ควรเชื่อถือ

นอกจากเพราะการเลือกตั้งเป็นประจำ ความสนใจแต่เรื่องใกล้ ๆ อาจเป็นผลของการคิดร่วมกันเป็นกลุ่มยกตัวอย่างเช่น ลองคิดถึงการรณรงค์เพื่อนโยบายลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเพิ่มความว่างงานในระยะสั้น ๆ (ว่าจะให้ผ่านดีหรือไม่)แต่ความเสี่ยงเช่นนี้ก็มีทั่วไปในระบอบการปกครองอื่น ๆ ด้วย

นักทุนนิยมแบบอนาธิปไตยคนหนึ่ง (Hans-Herman Hoppe) อธิบายเหตุของการมองแค่ใกล้ ๆ ของรัฐบาลประชาธิปไตย ว่าเป็นการเลือกทำอย่างสมเหตุผลของกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบัน ในการหาผลประโยชน์เกินควรจากทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มได้ประโยชน์มากที่สุดเขาเทียบกันราชาธิปไตยแบบสืบพระราชสกุล ที่พระราชาจะทรงสนใจรักษาคุณค่าของสมบัติ (คือ ประเทศ) ของพระองค์ในระยะยาว ซึ่งถ่วงดุลพระประสงค์ที่จะได้รายได้มากที่สุดในระยะสั้นเขาให้หลักฐานคือบันทึกอัตราภาษีตามประวัติศาสตร์ของพระราชตระกูลอังกฤษบางสกุลที่ 20-25%[39]เทียบกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมบางประเทศที่ 30-60% ซึ่งดูจะยืนยันเหตุผลนี้[40]

ประชาชนไม่มีอิทธิพล จึงไม่รู้เรื่องการเมือง

ทฤษฎีทางเลือกของสาธารณชน (Public choice theory) เป็นสาขาหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นักการเมือง และข้าราชการจากมุมมองของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์งานหนึ่งศึกษาปัญหาว่า ผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคนมีอิทธิพลน้อยมาก และดังนั้น อาจไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ อย่างสมเหตุผล เพราะความพยายามเพื่อจะรู้มีค่าสูงกว่าประโยชน์ที่ได้จากความรู้ [ต้องการอ้างอิง]ซึ่งอาจทำให้กลุ่มรณรงค์กฎหมายเพื่อผลประโยชน์เฉพาะเรื่อง ได้การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือได้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อตนแต่เป็นความเสียหายต่อสังคม[ต้องการอ้างอิง]อย่างไรก็ดี กลุ่มเช่นนี้ก็อาจมีอิทธิพลเท่าหรือมากกว่าในสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย[ต้องการอ้างอิง]

นิยมเสียงข้างมาก สามารถกดขี่ชนกลุ่มน้อย

ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก

เผด็จการโดยเสียงข้างมากเป็นแนวคิดแสดงความกลัวว่า รัฐบาลประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งออกกฎหมายสะท้อนความเห็นของคนส่วนมาก สามารถกดขี่ข่มเหงคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งได้โดยเฉพาะเช่นคนที่มั่งคั่ง มีทรัพย์สิน มีอำนาจ หรือคนส่วนน้อยทางด้านเชื้อชาติ ทางชาติพันธุ์ ทางชนชั้น หรือทางสัญชาติ

โดยทฤษฎีก็คือ คนส่วนมากหมายถึงคนส่วนใหญ่ของประชาชนประเทศนั้น ๆ ทั้งหมดแต่ถ้าไม่บังคับโดยกฎหมายให้ลงคะแนนออกเสียง ก็จะเป็นส่วนมากของคนที่เลือกออกเสียงดังนั้น ถ้ากลุ่มผู้ออกเสียงเป็นคนกลุ่มน้อย ก็จะสามารถกดขี่คนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งในนามของคนกลุ่มมากแต่ว่า เหตุผลเช่นนี้สามารถอ้างได้ในประชาธิปไตยทุกประเภท

เทียบกับระบอบประชาธิปไตยโดยตรงที่บังคับให้ประชาชนทุกคนลงคะแนนเสียง ในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ความมั่งคั่งและอำนาจมักรวมอยู่ในมือของชนชั้นอภิสิทธิ์ส่วนน้อย ผู้มีอำนาจอย่างสำคัญครอบงำกระบวนการทางการเมืองดังนั้นจึงอ้างว่า ในประเทศประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน คนกลุ่มน้อยนี้เป็นผู้ออกนโยบายโดยมาก และอาจกดขี่คนกลุ่มน้อย หรือแม้แต่กดขี่คนกลุ่มมากในนามของคนกลุ่มมากเองประเทศเผด็จการโดยพฤตินัยหลายประเทศก็บังคับให้ลงคะแนนเลือกตั้งที่ "ไม่เสรีและไม่ยุติธรรม" เพื่อเพิ่มความชอบธรรมของระบอบการปกครอง เช่น เกาหลีเหนือ[41][42]

ตัวอย่างของคนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่โดยหรือในนามของคนกลุ่มมากอาจรวมทั้ง

  • คนที่มีโอกาสถูกเกณฑ์ทหารเป็นคนกลุ่มน้อย ด้วยเหตุผลทางสังคมหรือฐานะ
  • คนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งบ่อยครั้งใช้เงินและอิทธิพลเพื่อชักใยกระบวนการทางการเมืองต่อต้านผลประโยชน์ของประชากรที่เหลือ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยโดยรายได้และโดยโอกาสเข้าถึงผู้ออกนโยบาย/กฎหมายได้
  • ประเทศยุโรปหลายประเทศได้ออกฎหมายห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวภายในโรงเรียนรัฐ คนคัดค้านเห็นว่านี่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา ส่วนคนสนับสนุนเห็นว่า นี่เป็นไปตามหลักการแยกกิจกรรมของรัฐออกจากกิจกรรมทางศาสนา
  • การห้ามงานลามกโดยปกติจะกำหนดโดยสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้
  • การมีอาวุธส่วนตัว (เช่น ไม้กระบอง ไม้กระบองสองข้างมีโซ่เชื่อม สนับมือ พริกไทยพ่น ปืน เป็นต้น) เป็นอาชญากรรมอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศ (เช่น สหราชอาณาจักร เบลเยียม ไทย เป็นต้น) โดยการทำให้เป็นอาชญากรรมตามอำเภอใจเช่นนี้อาจมีแรงดลใจเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในสังคม เพื่อลดความรุนแรงโดยทั่วไป ลดจำนวนฆาตกรรม หรืออาจมีเหตุทางศีลธรรม ทางชนชั้น หรือในฐานะพ่อปกครองลูก
  • ยาเสพติดเพื่อความผ่อนคลาย เช่น คาเฟอีน บุหรี่ และสุรา บ่อยครั้งจัดเป็นอาชญากรรมหรือของต้องห้ามโดยคนส่วนใหญ่ ดั้งเดิมตามแรงจูงใจเกี่ยวกับเชื้อชาติ ชนชั้น ศาสนา หรือในฐานะพ่อปกครองลูก[43][44][45][46]
  • การปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศ คือพฤติกรรมทางเพศของคนรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมในประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากจนกระทั่ง 2-3 ทศวรรษก่อน แต่ในบางประเทศก็ยังคงเป็นอาชญากรรม โดยสะท้อนประเพณีทางศาสนาหรือทางเพศของคนส่วนใหญ่
  • สังคมประชาธิปไตยกรุงเอเธนส์และสหรัฐในระยะต้นมีทาส
  • คนส่วนใหญ่มักหักรายได้จากคนส่วนน้อยที่มั่งคั่งโดยภาษีอัตราก้าวหน้าตามรายได้ โดยตั้งใจว่า คนรวยจะมีภาระทางภาษีที่หนักกว่าเพื่อประโยชน์สังคม
  • ในสังคมประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนในประเทศตะวันตกที่ร่ำรวย คนจนจะเป็นคนส่วนน้อย และอาจไม่มีอำนาจใช้ระบบรัฐเพื่อปรับกระจายรายได้ เมื่อคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนมากต่อต้านนโยบายเช่นนั้น ถ้าคนจนแบ่งเป็นชนชั้นต่ำอย่างชัดเจน คนส่วนมากอาจใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อถอนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยพฤตินัย
  • ตัวอย่างที่บ่อยครั้งอ้างในเรื่อง "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" ก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ขึ้นสู่อำนาจผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ชอบธรรม คือพรรคนาซีได้ส่วนแบ่งคะแนนเสียงมากที่สุดในสาธารณรัฐไวมาร์ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในปี 2476 แต่บางคนก็อาจพิจารณาตัวอย่างว่านี้เป็น "เผด็จการโดยคนกลุ่มน้อย" เนื่องจากเขาไม่เคยได้คะแนนเสียงส่วนมากของประชาชนทั้งหมดจริง ๆ แต่นี่ก็เป็นวิธีสามัญในระบบประชาธิปไตยที่ตัดสินการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่ออกเหนือกว่า ดังนั้น การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ก็ยังอยู่ในประเด็น แต่ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางของเขาเกิดขึ้นหลังจากที่เลิกล้มระบบประชาธิปไตยไปแล้ว อนึ่ง รัฐธรรมนูญไวมาร์ได้อนุญาตให้ใช้อำนาจเผด็จการและให้พักหลักต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียงหรือเลือกตั้งในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนผู้สนับสนุนแสดงว่า มีมาตรการความปลอดภัยหลายอย่างในรัฐประชาธิปไตยเพื่อป้องกัน "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก"เช่น การมีกฎรัฐธรรมนูญที่ป้องกันสิทธิของประชาชนทั้งหมดโดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจะต้องได้การตกลงจากเกินกว่าครึ่งของผู้แทน ได้การตกลงจากตุลาการและลูกขุนที่เห็นด้วยว่ามาตรฐานทางหลักฐานและกระบวนการได้ทำอย่างสมบูรณ์ ได้การลงคะแนนเสียงเห็นด้วยสองครั้งโดยผู้แทนจากการเลือกตั้งสองครั้ง หรือบางครั้งได้การออกเสียงประชามติและบ่อยครั้ง ข้อแม้เหล่านี้ต้องทำอย่างผสมการแยกใช้อำนาจเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ก็จะทำให้คนส่วนน้อยทำตามอำเภอใจได้ยากขึ้นซึ่งหมายความว่า แม้คนส่วนมากจะยังสามารถบังคับคนส่วนน้อยอย่างถูกกฎหมาย (โดยอาจจะไม่ถูกต้องตามจริยธรรม) แต่คนส่วนน้อยนี้จะเป็นคนกลุ่มเล็กมากโดยทางปฏิบัติ เพราะการเร้าให้คนส่วนใหญ่ตกลงร่วมใจปฏิบัติการเยี่ยงนั้นเป็นเรื่องยาก

เหตุผลอีกอย่างก็คือ คนส่วนมากและคนส่วนน้อยอาจไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกันในประเด็นต่าง ๆ กันคือ บุคคลอาจจะเห็นร่วมกับคนส่วนมากในบางเรื่อง เห็นร่วมกับคนส่วนน้อยในบางเรื่องและความเห็นก็อาจเปลี่ยนได้ดังนั้น สมาชิกของคนส่วนมากอาจจำกัดการกดขี่คนส่วนน้อย เพราะตัวอาจจะเป็นคนส่วนน้อยเองในอนาคต

เหตุผลสามัญที่สามก็คือ แม้จะเสี่ยง การปกครองโดยเสียงข้างมากก็ยังดีกว่าระบบอื่น ๆ และดีกว่าเผด็จการโดยคนกลุ่มน้อยอนึ่ง ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวก็ล้วนสามารถเกิดในรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้ โดยมีปัญหาเพิ่มว่า คนกลุ่มน้อยสามารถกดขี่ข่มเหงคนส่วนมากได้

ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอ้างว่า หลักฐานเชิงประสบการณ์ทางสถิติแสดงอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลประชาธิปไตยในระดับสูงกว่า ใช้ความรุนแรงและการสังหารหมู่ภายในประเทศน้อยกว่าซึ่งบางครั้งเรียกว่ากฎของรัมเมล (Rummel's Law) อันอ้างว่า ประชาชนมีเสรีภาพแบบประชาธิปไตยยิ่งน้อยเท่าไร ผู้ปกครองก็มีโอกาสฆ่าประชาชนสูงยิ่งขึ้นเท่านั้น

สร้างเสถียรภาพทางการเมือง

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ เป็นระบบที่ประชาชนสามารถเปลี่ยนผู้ดำเนินการของรัฐได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนมูลฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับรัฐบาลดังนั้น ระบบประชาธิปไตยจึงสามารถลดความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า แม้ตนอาจจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายปัจจุบัน แต่ก็จะได้โอกาสเปลี่ยนคนที่อยู่ในอำนาจ หรือเปลี่ยนนโยบายที่ตนไม่เห็นด้วยซึ่งดีกว่าระบบที่ต้องใช้ความรุนแรงเปลี่ยนสถานภาพ

บางคนก็คิดว่า เสถียรภาพทางการเมืองอาจเกินไปถ้ากลุ่มที่อยู่ในอำนาจเป็นพวกเดียวกันเป็นเวลานานแต่ว่า นี่ก็สามัญกว่าในระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ลักษณะที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยเสรีนิยมก็คือ ผู้ต่อต้านระบอบ (คือ ผู้ต้องการเลิกล้มระบอบ) ไม่ค่อยชนะการเลือกตั้งซึ่งผู้สนับสนุนใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีเสถียรภาพในตัว และจะล้มล้างได้ก็ต่อเมื่อใช้อำนาจนอกกฎหมาย ในขณะที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ระบบตั้งซ้อนทับบุคคลผู้ไม่เห็นด้วยจนขยับไม่ได้ แม้จะมีการอ้างว่าระบอบมีความเป็นกลาง

ในอดีต เคยกลัวกันว่า ผู้นำที่ต้องการอำนาจเผด็จการและสามารถได้รับเลือกตั้ง อาจชักใยระบบได้ง่าย ๆ แต่ว่า จำนวนรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เลือกนักเผด็จการขึ้นสู่อำนาจมีน้อยมากและเมื่อเกิดขึ้น ก็มักจะเกิดหลังวิกฤติการณ์สำคัญทีทำให้คนจำนวนมากไม่มั่นใจในระบบ หรือเกิดในประชาธิปไตยที่เพิ่งตั้งขึ้นหรือยังดำเนินการได้ไม่ดีตัวอย่างรวมทั้ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และนโปเลียน ผู้ตอนแรกได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง แล้วในที่สุดก็จักรพรรดิ

ไม่มีประสิทธิผลช่วงสงคราม

โดยนิยาม ประชาธิปไตยเสรีนิยมหมายความว่าอำนาจไม่ได้รวมศูนย์ดังนั้น นี่อาจเป็นข้อเสียเปรียบในช่วงสงคราม เมื่อจำเป็นต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วและเป็นใจเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติปกติจะต้องยินยอมก่อนจะเริ่มยุทธการรุกรานทางทหาร แม้ว่าบางที ฝ่ายบริหารก็สามารถทำได้แต่ต้องแจ้งฝ่ายนิติบัญญัติแต่ถ้าถูกโจมตี ปกติไม่จำเป็นต้องได้ความยินยอมเพื่อเริ่มยุทธการป้องกันตัวอนึ่ง ประชาชนอาจจะลงคะแนนเสียงไม่ให้มีการเกณฑ์ทหาร

อย่างไรก็ดี งานวิจัยกลับแสดงว่า ประชาธิปไตยมีโอกาสชนะสงครามมากกว่ารัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยคำอธิบายหนึ่งยกเหตุให้ "ความโปร่งใสของระบบการปกครองและเสถียรภาพของสิ่งที่ต้องการ เมื่อกำหนดได้ ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถร่วมมือกับพันธมิตรในการทำสงครามได้ดีกว่า"งานวิจัยอื่นยกเหตุให้แก่การระดมทรัพยากรได้ดีกว่า หรือการเลือกสงครามที่มีโอกาสชนะสูง[47]

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์คู่หนึ่งให้ข้อสังเกตว่า การเน้นความเป็นตัวของตัวเองในสังคมประชาธิปไตยหมายความว่า ทหารจะต่อสู้โดยมีความริเริ่มและความเป็นผู้นำดีกว่า[48]เพราะว่า นายทหารในระบอบเผด็จการมักจะแต่งตั้งตามความจงรักภักดีทางการเมือง ไม่ใช่สมรรถภาพทางการทหารและอาจมาจากชนชั้นที่เล็กมาก หรือจากกลุ่มศาสนา/ชาติพันธุ์ที่สนับสนุนการปกครอง

ผู้นำของรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอาจตอบสนองอย่างรุนแรงต่อคำวิจารณ์หรือความไม่เชื่อฟังซึ่งอาจทำให้ทั้งพลทหารและนายทหารกลัวที่จะคัดค้านหรือทำการโดยไม่ได้รับคำสั่งโดยตรงการไร้ความริเริ่มเช่นนี้ อาจเสียหายเป็นพิเศษในสงครามยุคปัจจุบันทหารฝ่ายตรงข้ามอาจจะยอมแพ้อย่างง่าย ๆ กว่าต่อรัฐประชาธิปไตย เพราะหวังการปฏิบัติที่ดีโดยเปรียบเทียบได้มากกว่าเปรียบเทียบกับนาซีเยอรมนีที่ประหารทหารโซเวียต 2 ใน 3 ที่จับได้ และเกาหลีเหนือที่ประหารทหารอเมริกันที่จับได้ในช่วงสงครามเกาหลีถึง 38%

มีข้อมูลและการแก้ปัญหาที่ดีกว่า

ระบอบประชาธิปไตยอาจให้ข้อมูลเพื่อออกนโยบายได้ดีกว่าเพราะว่า ระบอบเผด็จการอาจเพิกเฉยข้อมูลที่ไม่ชอบใจได้ง่ายกว่า แม้ข้อมูลจะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่ามีปัญหาระบอบประชาธิปไตยยังมีระเบียบการเปลี่ยนผู้นำหรือนโยบายซึ่งไร้ประสิทธิภาพดังนั้น ในระบอบอัตตาธิปไตย ปัญหาอาจดำเนินไปได้ยาวกว่า และวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาจสามัญกว่า[49]

ช่วยลดคอร์รัปชัน

งานวิจัยของธนาคารโลกแสดงว่า หลักการเมืองสำคัญอย่างยิ่งยวดเพื่อจำกัดคอร์รัปชัน หลักรวมทั้ง ระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว รัฐสภา ความเสถียรภาพทางการเมือง และเสรีภาพของสื่อข่าว ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับคอร์รัปชันที่น้อยกว่า[50]กฎหมายเสรีภาพในการได้ข้อมูลข่าวสาร เป็นสิ่งสำคัญต่อภาระรับผิดชอบและความโปร่งใสของรัฐยกตัวอย่างเช่น กฎหมายสิทธิเพื่อได้ข้อมูล (Right to Information Act) ของอินเดีย "ได้ก่อให้เกิดขบวนการของมวลชนในประเทศ ซึ่งกำลังทำระบบราชการที่บ่อยครั้งทุจริตให้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ แล้วเปลี่ยนดุลอำนาจโดยสิ้นเชิง"[51]

การก่อการร้ายน้อยกว่า

งานศึกษาหลายงาน[ต้องการอ้างอิง]ได้สรุปว่า การก่อการร้ายสามัญที่สุดในประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองในระดับกลาง ๆ โดยหมายถึงประเทศที่กำลังเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยเพราะประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการที่เข้มแข็ง ตลอดจนรัฐที่ให้เสรีภาพทางการเมืองมากกว่า มีก่อการร้ายน้อยกว่า[52]

เศรษฐกิจดีกว่า และวิกฤติการณ์ทางการเงินน้อยกว่า

โดยสถิติแล้ว รัฐประชาธิปไตยสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อประชากรที่สูงกว่าอย่างไรก็ดี ก็มีข้อขัดแย้งว่า ควรให้เครดิตเรื่องนี้ต่อระบอบประชาธิปไตยได้แค่ไหนคือ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยจะแพร่หลายก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมและการเริ่มระบบทุนนิยมในนัยตรงกันข้าม การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้เกิดก่อนในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในเวลานั้นภายในอาณาเขตของตน(แม้ว่า ประชาธิปไตยจะจำกัดมากและไม่ได้ใช้ในอาณานิคมซึ่งเป็นแหล่งสร้างความร่ำรวย)

งานทางสถิติหลายงานสนับสนุนทฤษฎีว่า ทุนนิยมระดับสูงกว่า วัดโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Index of Economic Freedom) แบบต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยที่เป็นอิสระเป็นร้อย ๆ งานได้ใช้[53]เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่งคั่งโดยทั่วไป ลดความยากจน และเป็นเหตุต่อการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแต่นี่เป็นความโน้มเอียงทางสถิติ ดังนั้น จึงมีข้อยกเว้นเป็นกรณี ๆ เช่น ประเทศมาลี ซึ่งจัดว่า "เสรี" โดยฟรีดอมเฮาส์ แต่กลับเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือกาตาร์ซึ่งโต้แย้งได้ว่ามีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อประชากรสูงสุด แต่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยยังมีงานศึกษาอื่น ๆ ที่แสดงว่า ประชาธิปไตยเพิ่มเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และมีบางงานที่ไม่พบผลลบหรือพบผลลบที่น้อยมาก[54][55][56][57][58][59]

ข้อโต้แย้งอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศต่าง ๆ เช่น สวีเดนและแคนาดาปัจจุบันมีคะแนนต่ำกว่าชิลีและเอสโตเนียในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสวีเดนและแคนาดากลับมี GDP ต่อประชากรที่สูงกว่าแต่นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะงานศึกษาต่าง ๆ แสดงผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และดังนั้น GDP ต่อประชากรในอนาคตจะสูงกว่าถ้ามีเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าอนึ่ง ตามดัชนี สวีเดนและแคนาดาเป็นประเทศทุนนิยมระดับสูงสุดในโลก เนื่องจากปัจจัยเช่นหลักนิติธรรม สิทธิทางทรัพย์สินที่เข้มแข็ง และข้อจำกัดต่อการค้าเสรีที่น้อยมากส่วนผู้คัดค้านอาจอ้างว่า ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจและวิธีการอื่น ๆ ไม่ได้วัดระดับทุนนิยมจริง ๆ

บางท่านอ้างว่า เศรษฐกิจที่เติบโตจากการให้อำนาจแก่ประชาชน จะช่วยเปลี่ยนประเทศต่าง ๆ เช่นคิวบา ให้เป็นประชาธิปไตยแต่บางคนก็โต้แย้งเรื่องนี้คือ แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้ก่อให้เกิดประชาธิปไตยในอดีต แต่ก็อาจจะไม่เป็นอย่างนี้ในอนาคตเพราะผู้เผด็จการอาจจะรู้จักเลี้ยงเศรษฐกิจให้เติบโตโดยไม่ให้เสรีภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น[60][61]

การส่งออกน้ำมันหรือแร่ระดับสูงสัมพันธ์กับระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างมีกำลังซึ่งเป็นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในตะวันออกกลางคือผู้เผด็จการที่ร่ำรวยเยี่ยงนี้สามารถจับจ่ายเพื่อความมั่นคงและเพื่อให้ประโยชน์ที่ลดการจลาจลของประชาชนดังนั้น ความมั่งคั่งเช่นนี้จะไม่ติดตามด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม แต่ในเศรษฐกิจที่เจริญเพราะเหตุอื่น ความมั่งคั่งอาจเปลี่ยนแปลงสังคม[62]

งานวิเคราะห์อภิมานปี 2549 พบว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่มีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ก็มีผลโดยอ้อมที่สำคัญและมีกำลังคือ ประชาธิปไตยสัมพันธ์กับการสะสมทรัพย์ที่สูงกว่า ภาวะเงินเฟ้อที่น้อยกว่า เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีกว่า และดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าแต่ก็มีหลักฐานด้วยว่ามันสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ใหญ่กว่า และกับข้อจำกัดต่อการค้าระหว่างประเทศมากกว่า[63]

ถ้าไม่นับเอเชียตะวันออก ใน 45 ปีที่ผ่านมา รัฐประชาธิปไตยที่ยากจนมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น 50% เร็วกว่ารัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเช่น ประเทศประชาธิปไตยในเขตทะเลบอลติก บอตสวานา คอสตาริกา กานา เซเนกัล ได้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยรวมทั้งแองโกลา ซีเรีย อุซเบกิสถาน และซิมบับเว[49]ในความวิบัติทางการเงินที่แย่ที่สุด 80 เหตุการณ์ เพียงแค่ 5 เหตุการณ์เท่านั้นที่เกิดในประเทศประชาธิปไตยและเช่นกัน รัฐประชาธิปไตยที่ยากจนมีโอกาสครึ่งหนึ่งของรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ GDP ต่อประชากรจะลดลง 10% ภายในปีเดียว[49]

มีทุพภิกขภัยและผู้อพยพลี้ภัยน้อยกว่า

ศ. อมรรตยะ เสน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ให้ข้อสังเกตว่า รัฐประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพไม่เคยมีปัญหาทุพภิกขภัยขนาดใหญ่[64]วิกฤติการณ์ผู้อพยพลี้ภัยได้เกิดในรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเกือบทั้งหมดเมื่อตรวจดูกรณีผู้อพยพลี้ภัยภายใน 20 ปีที่ผ่านมา โดย 87 กรณีแรกเกิดในอัตตาธิปไตย[49]

พัฒนามนุษย์ได้ดีกว่า ยากจนน้อยกว่า เป็นต้น

ประชาธิปไตยสัมพันธ์กับค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่สูงกว่า และกับค่าดัชนีความยากจนมนุษย์ที่ต่ำกว่าประชาธิปไตยมีโอกาสให้ระบบการศึกษาที่ดีกว่า การคาดหมายคงชีพที่ยืนนานกว่า จำนวนเสียชีวิตทารกที่ต่ำกว่า น้ำที่ดื่มได้ และบริการสุขภาพที่ดีกว่าระบอบเผด็จการซึ่งไม่ใช่จากการช่วยเหลือของต่างประเทศ หรือการให้งบประมาณสูงกว่าเทียบกับ GDPแต่เป็นการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ได้ดีกว่า[49]

ตัวบ่งชี้ทางสุขภาพหลายตัว (การคาดหมายคงชีพ จำนวนเสียชีวิตของทารก จำนวนเสียชีวิตของมารดา) มีค่าสหสัมพันธ์และนัยสำคัญทางสถิติกับประชาธิปไตยเหนือกว่ากับ GDP ต่อประชากร กับขนาดของรัฐบาล หรือกับความไม่เสมอภาคกันทางรายได้[65]

ในประเทศคอมมิวนิสต์ก่อน ๆ หลังจากที่เสื่อมลงในระยะต้น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดได้เพิ่มการคาดหมายคงชีพมากที่สุด[66]

ทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย

งานวิจัยหลากหลายที่ใช้ข้อมูลต่าง ๆ กัน นิยามต่าง ๆ กัน และการวิเคราะห์ทางสถิติต่าง ๆ กัน ต่างพบหลักฐานสนับสนุน ทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย (Democratic peace theory) [ต้องการอ้างอิง]งานศึกษาเบื้องต้นสุดพบว่า รัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมไม่เคยทำสงครามกับกันและกันงานวิจัยต่อ ๆ มาได้ขยายทฤษฎีนี้โดยพบว่า รัฐประชาธิปไตยมีจำนวนข้อพิพาทระหว่างรัฐที่ใช้กำลังทหารระดับ MID (ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตน้อยกว่า 1,000 คนในการสู้รบ) น้อยกว่า อนึ่ง MID ที่เกิดระหว่างรัฐประชาธิปไตยเป็นเหตุแห่งความตายน้อยกว่า และรัฐประชาธิปไตยก็มีสงครามกลางเมืองน้อยกว่า[67][68]

มีข้อโต้แย้งหลายอย่างต่อทฤษฎีนี้ รวมทั้งการมีหลักฐานปฏิเสธอย่างน้อยก็เท่า ๆ กับหลักฐานที่ยืนยันทฤษฎี, มีกรณีที่ต่างจากปกติถึง 200 กรณี, ไม่ปฏิบัติต่อ "ประชาธิปไตย" โดยเป็นแนวคิดหลายมิติ, และสหสัมพันธ์ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหตุ[69]

การสังหารหมู่โดยรัฐน้อยกว่า

ศ. อเมริกันคนหนึ่ง (ผู้สนับสนุนทฤษฎีสันติภาพเหตุประชาธิปไตย) อ้างว่า รัฐบาลประชาธิปไตยสังหารหมู่ประชาชนน้อยกว่า[70]และเช่นกัน ก็ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสังหารหมู่เหตุการเมือง น้อยกว่าด้วย[71]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประชาธิปไตยเสรีนิยม http://www.asgp.co/sites/default/files/documents//... http://members.aol.com/CSPmgm/conflict.htm http://www.freetheworld.com/papers.html http://www.historyisaweapon.com/defcon1/bernprop.h... http://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id... http://thehumananimal.com/usa/?p=381 http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,1... http://www.news.harvard.edu/gazette/2004/11.04/05-... http://muse.jhu.edu/demo/jod/10.3sen.html http://polisci.la.psu.edu/faculty/Casper/caspertuf...